top of page
Search

ทำไมเราต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่

The Necessary Revolution (2008)

by Peter M. Senge


ปีเตอร์ เซงเก้ ผู้เขียนเป็นที่รู้จักกันดีในวงกว้างจากหนังสือเรื่อง The Fifth Discipline คัมภีร์หลักสำหรับนักบริหารที่ต้องการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ เครื่องมือหลักของปีเตอร์ เซงเก้ คือ “System Dynamics” ที่มีเจย์ ฟอร์เรสเตอร์ แห่ง MIT เป็นบิดาผู้คิดค้นและประยุกต์ใช้กับปัญหาสำคัญต่างๆ







เจย์ ฟอร์เรสเตอร์ ได้ใช้แนวคิด System Dynamics จัดทำรายงาน Urban Dynamics เพื่อแก้ไขปัญหาเมืองและที่อยู่อาศัยอย่างประสบความสำเร็จจนได้รับการติดต่อจาก Club of Rome เพื่อทำวิจัยเรื่อง World Dynamics และเขียนรายงาน The Limits of Growth (1972) ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่นาไปสู่แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามมา


ผู้เขียนใช้แนวคิดที่เคยเขียนใน The Fifth Discipline มาใช้กับการเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนยุคของโลกปัจจุบัน ที่ผ่านมา มนุษย์ได้ผ่านยุคต่างๆ มาตลอดประวัติศาสตร์โลก จากยุคหินสู่ยุคสาริดและสู่ยุคเหล็ก จากยุคมืดสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ จากยุคเกษตรกรรมสู่ยุคอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในยุคอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อกว่า 200 ปีก่อน และกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ ปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติรอบใหม่ ที่เรียกว่า Necessary Revolution


>> กรณีออสเตรเลีย การอนุรักษ์น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวาระแห่งชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียง และผู้ชนะการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2007 เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงกว่า ผู้ประกอบการออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการอนุรักษ์น้ำได้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส หันมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แทน



>> กรณีประเทศสวีเดน ซึ่งถือเป็นประเทศที่พึ่งพาน้ำมันสูง ได้เปลี่ยนนโยบายหันมาตั้งเป้าหมายว่า ประเทศจะยกเลิกการใช้น้ำมันจากฟอสซิลโดยสิ้นเชิง หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้วางเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างให้ภาคเหนือของสวีเดนกลายเป็น “bioregion” หรือภูมิภาคที่ใช้พลังงานจากชีวภาพอย่างสมบูรณ์แห่งแรกของโลก โดยต้องการให้พลังงานในภูมิภาคทั้งหมดอยู่บนฐานของพลังงานชีวภาพ 100%


>> กรณีศึกษาของภาคธุรกิจจำนวนมากพบเช่นกันว่ากำลังอยู่ในกระบวนการปฏิวัติครั้งนี้ เช่น บริษัท DuPontบริษัทใหญ่เก่าแก่ของสหรัฐ ได้เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจจากการผลิตสินค้าบนฐานของปิโตรเลียมไปสู่ฐานของชีวภาพ สร้างสินค้าใหม่ๆ ที่จะทำให้บริษัทไม่ต้องขึ้นอยู่กับพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป

บริษัท Nike ได้ลดรอยเท้าคาร์บอนลง 75% วางเป้าหมายจะลดขยะจากกระบวนการผลิต ลดสารพิษ และสามารถรีไซเคิลสินค้าและวัตถุดิบได้ 100% (Zero Waste, Zero toxicity, 100 percent recyclability)



สัญญาณที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติแห่งยุคสมัยครั้งนี้เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่แท้ที่จริงไม่ได้เกิดจากวิกฤตแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความสามารถในการตอบสนองต่อวิกฤตยังไม่เพียงพอ





นอกจากนี้ มนุษย์เรามักชอบแก้ปัญหาแบบ “Quick Fixes” หรือรีบแก้ไขไปก่อน โดยไม่ได้พิจารณาทั้งระบบและผลข้างเคียงของมาตรการแก้ไขดังกล่าว ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีการผลิตเอทานอลจากข้าวโพดของสหรัฐอเมริกาเพื่อต้องการทดแทนการนำเข้าน้ำมันและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ปรากฏว่าผลข้างเคียงก็คือเกิดการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวโพดมหาศาล ปริมาณข้าวโพดเติบโตอย่างมาก ก๊าซเรือนกระจกที่คาดหวังจะลดลงกลับดูจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการเผาไหม้เอทานอลดังกล่าวในรถยนต์



การส่งเสริมเอทานอลจากข้าวโพดส่งผลให้ราคาข้าวโพดในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งส่งสัญญาณให้ประเทศต่างๆ ทั่ว โลกตัดไม้ทาลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

การแก้ปัญหาแบบ Quick Fixes จึงเกิดผลเลวร้ายตามมาได้ในที่สุด ผู้เขียนกล่าวว่า ยุคเหล็กไม่ได้จบไปเพราะเหล็กหมด ดังนั้น ยุคอุตสาหกรรมก็คงไม่ได้จบไป เพราะการไม่สามารถขยายอุตสาหกรรมต่อไปได้ แต่ยุคอุตสาหกรรม น่าจะจบลงไปเพราะประชาชน บริษัทและภาครัฐได้เห็นอย่างชัดเจนว่าแนวทางการพัฒนาและวิธีคิดแบบอุตสาหกรรมนี้นำไปสู่เส้นทางที่ไม่ยั่งยืน



วิธีคิดแบบอุตสาหกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนได้เน้นย้ำ ว่าคือ “การคิดแบบเครื่องจักรกล” การวัดความสำเร็จวัดจากประสิทธิภาพ ผลผลิตภาพและมาตรฐาน วิธีคิดแบบเครื่องจักรจึงมองทรัพยากรธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุดิบนำเข้าเพื่อเข้าสู่เครื่องจักรผลิตความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเท่านั้น



การปฏิวัติสู่ยุคใหม่ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบเดิมก้าวสู่วิธีคิดแบบใหม่ที่เห็นระบบที่ใหญ่กว่า ระบบที่มีชีวิต มีความสัมพันธ์ระหว่างกันและพึ่งพาอาศัยกัน และมีความหลากหลายหลักคิดเบื้องต้น 6 ประการที่เป็นพื้นฐานของวิธีคิดใหม่ๆ คือ


1. ระบบอุตสาหกรรม คือระบบการผลิต ขาย และซื้อสินค้าและบริหารต่างๆ นั้นไม่ใช่ระบบโดดๆ แต่ตั้งอยู่บนระบบธรรมชาติที่ใหญ่กว่า


2. ระบบธรรมชาติที่ครอบระบบอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิต ทรัพยากรที่ฟื้นฟูได้เช่น ป่าไม้ ดิน ปลา และทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ


3. ทรัพยากรที่ฟื้นฟูได้มีให้มนุษย์ใช้ได้ไม่จำกัด แต่จะต้องใช้ทรัพยากรเหล่านี้ไม่เกินขีดจำกัดในการฟื้นฟูตัวเองขึ้นใหม่


4. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปทำได้เพียงการถลุงออกมาใช้และวันหนึ่งจะหมดไปจากโลก


5. ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดขยะ ซึ่งขยะส่งผลต่อธรรมชาติและมนุษย์


6. ระบบอุตสาหกรรม ตั้งอยู่บนระบบของสังคมที่ใหญ่กว่า ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชน ครอบครัว โรงเรียน วัฒนธรรม การผลิตที่มากเกินไปและการเกิดขยะ ไม่เพียงส่งผลต่อระบบธรรมชาติ แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบสังคม เช่น ความเครียด โรคประสาท ความไม่เท่าเทียมกันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ที่เป็นยุคที่ยั่งยืนได้นั้น เราต้องเข้าใจโลกที่เป็นจริงให้มากยิ่งขึ้น






ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงมิจฉาทิฐิที่ยุคอุตสาหกรรมครอบงำเราไว้ 5 ด้านคือ


1. พลังงาน (Energy) ยุคอุตสาหกรรมพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล ในขณะที่ธรรมชาติพึ่งพาพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่มีวันหมด


2. อาหาร (Food) ยุคอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้ระบบการผลิตสินค้าโลก ในขณะที่ธรรมชาติอยู่บนฐานการผลิตสินค้าท้องถิ่น


3. วัสดุ (Materials) ยุคอุตสาหกรรมสร้างของเสียและขยะมาก ในขณะที่ธรรมชาติ ไม่มีขยะเพราะของเสียจากระบบหนึ่งจะกลายไปเป็นอาหารของอีกระบบหนึ่ง


4. ความหลากหลาย (Diversity) ยุคอุตสาหกรรมยึดถือมาตรฐานเดียวกัน ในขณะที่ธรรมชาติเต็มไปด้วยความหลากหลาย


5. ความสุขทางสังคม (Social Well-being) ยุคอุตสาหกรรมมุ่งเป้าที่รายได้สูงสุด แต่ในธรรมชาติ ความสุขเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน


ผู้เขียนได้เสนอแนะหลักปฏิบัติ (guiding principle) การใช้ชีวิตเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่


· Surf the flux ใช้ชีวิตบน energy income หรือโฟล์ของพลังงานที่อยู่บนฐานของทรัพยากรหมุนเวียนเช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ ชีวมวล


· Zero to landfill ลดขยะให้เป็นศูนย์ ทั้งใช้วิธีรีไซเคิล 100% การนำสินค้าที่ใช้ไประยะหนึ่งแล้ว นำมาปรับสภาพให้เหมือนสินค้าใหม่เอี่ยม (remanufacturing) การสลายตัวกลับสู่ดิน


· ความรับผิดชอบของเราคือการทิ้งโลกที่ดีไว้ให้ลูกหลานในรุ่นถัดๆ ไป


· เราเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ สปีชีย์ที่สำคัญ เราขึ้นอยู่แก่กันและกันอย่างมากกว่าที่พวกเราคิด


· การให้คุณค่ากับระบบนิเวศและรักษาระบบนิเวศให้สมกับคุณค่าของเขา


· การประสานระหว่างความหลากหลายเป็นหัวใจสำคัญของระบบนิเวศและระบบสังคมที่ดี


· เรามีเรือโลกเพียงใบเดียว รูรั่วเดียวจะจมเราทั้งหมด ความมั่นคงของชาติเป็เรื่องเหลวไหลเหมือนการไล่กวดเงา เพราะไม่มีใครมีความมั่นคงไปได้ หากโลกเราทั้งหมดไม่มั่นคง


หนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาดีๆ ให้อ่านอีกมาก โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติ 3 ประการ ที่ผู้เขียนอุทิศเนื้อหาหลายบทหลายตอนในการอธิบาย คือ


(1) การมองเห็นระบบ (seeing systems) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญเริ่มแรกที่จะทำให้เราเห็นถึงทั้งหมด เห็นถึงองค์รวมของสรรพสิ่ง และเห็นว่าเราอยู่ตรงไหนของระบบ เราจะมีส่วนร่วมในระบบได้อย่างไร นอกจากการเข้าใจระบบจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาแล้ว การเข้าใจว่าเราอยู่ตรงไหนของระบบ ยังช่วยให้เรามีแรงมีพลังงานที่จะร่วมมือกับคนอื่นๆ ในการทำให้ระบบดีขึ้นได้ด้วย


(2) การร่วมมือกันข้ามขอบเขตพรมแดน (collaborating across boundaries) และ


(3) การเปลี่ยนจากการแก้ปัญหาไปสู่การสร้างสรรค์และออกแบบอนาคตใหม่ (From problem solving to creating)


หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองการเปลี่ยนแปลงระดับกระบวนทัศน์ระดับโลกอย่างน่าสนใจ พร้อมยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ทั่วโลกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แม้หนังสือจะออกมานานสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็นับเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและกระตุ้นให้เราปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

15 views0 comments

Comments


bottom of page