top of page
Search

ศิลปะการคิดให้ชัดเจน

  • Writer: Taratorn Ratananarumitsorn
    Taratorn Ratananarumitsorn
  • Apr 30, 2021
  • 1 min read

The Art of Thinking Clearly By Rolf Dobelli


จะดีแค่ไหน หากเราสามารถคิดอะไรได้อย่างชัดเจน เฉียมคม ไม่เกิดความผิดพลาด หรือมีอคติมาครอบงำ




หนังสือเล่มเล็กนี้รวบรวมวิธีคิดดีๆ ไว้ถึง 52 วิธี เพื่อให้เราสามารถนำไปปรับปรุงวิธีคิดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (หนังสือฉบับภาษาไทย แปลโดยคุณอรพิน ผลพนิชรัศมี สำนักพิมพ์วีเลิร์น)

เรามาดูบางตัวอย่างที่ทำให้เราคิดผิดพลาดกัน


ทางเลือกมากไปดีจริงหรือ?


ผู้เขียนเล่าเรื่องร้านของชำใกล้บ้านที่มีโยเกิร์ตให้เลือกถึง 48 แบบ ไวน์แดง 134 ชนิด และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 48 แบบ ในขณะที่สมัยก่อน สินค้าต่างๆ มีแค่ 2-3 แบบให้เลือกเท่านั้น ทางเลือกมากขึ้นน่าจะดีขึ้นไม่ใช่หรือ? จริงอยู่ว่า แม้การมีตัวเลือกมากๆ น่าจะทำให้เรามีความสุข แต่โลกที่มีทางเลือกมากเกินไป หลายครั้งส่งผลให้จิตใจเราแย่ลงได้เช่นกัน ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Paradox of Choice


เหตุผลสำคัญ 3 ข้อที่ทำให้เกิด Paradox of Choice คือ


ข้อแรก การมีตัวเลือกจำนวนมากเกินไป จะแช่แข็งความคิดของเรา ทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ เช่น ลูกค้าไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะซื้อแยมรสใดดี เมื่อมีแยมให้เลือกลองถึง 24 รส แต่พอทดลองลดเหลือแยมเพียงแค่ 6 รส กลับทำให้ยอดขายเพิ่มมากกว่าหลายเท่า


ข้อที่สอง การมีตัวเลือกจำนวนมาก ไม่เพียงทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ แต่อาจถึงขั้นทำให้คนเราตัดสินใจได้แย่ลงเลยทีเดียว เช่น จากสมัยก่อนที่การเลือกคู่ของหนุ่มสาวในหมู่บ้านเล็กๆ อาจมีหนุ่มสาวรุ่นเดียวกันเพียง 20 คน ทำให้เราสามารถพิจารณาคุณสมบัติหลากหลายที่เราชอบได้ แต่พอถึงยุคการเลือกคู่ออนไลน์ที่มีตัวเลือกเป็นล้าน ก็อาจทำให้ผู้ชายที่หาคู่ทางออนไลน์ ลดเกณฑ์การตัดสินใจลง จากเคยต้องการคุณสมบัติต่างๆ มากมาย ลดเหลือเพียงรูปร่างหน้าตาอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์แย่ลงก็ได้


ข้อที่สาม การมีตัวเลือกมากเกินไป ทำให้คนเราเกิดความไม่พอใจ เพราะเราไม่รู้ว่า เราเลือกได้ถูกหรือเปล่า เราเลือกทางเลือกที่ไม่ได้ดีที่สุดไปหรือไม่ ส่งผลให้เรารู้สึกไม่พอใจ หลังจากที่ตัดสินใจไปแล้ว


ข้อแนะนำก็คือ เราควรใคร่ครวญให้ดีว่าตัวเองต้องการอะไร เขียนเกณฑ์ในการตัดสินใจออกมา พอใจกับตัวเลือกที่ดีพอ ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องดีที่สุด ก็จะทำให้เรามีความสุขกับโลกที่มีทางเลือกมากมายนี้ได้


ตั้งแรงจูงใจอย่างไรถึงจะดี?


ผู้เขียนเล่าเรื่องสนุกมากมายเกี่ยวกับความผิดพลาดในการตั้งแรงจูงใจ


ณ เมืองฮานอย ช่วงศตวรรษที่ 19 มีประชากรหนูจำนวนมากจนเกินไป ผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสจึงออกกฎหมายเพื่อเป็นแรงจูงใจว่าจะมอบเงินรางวัลสำหรับหนูตายทุกตัวที่คนนำมาส่งทางการ ผลก็คือ แม้จะมีหนูจำนวนมากถูกกำจัดไป แต่ก็มีคนมากมายที่เพาะพันธุ์หนูเพื่อนำไปแลกรางวัลเช่นกัน


ณ บริเวณถ้ำแถบทะเลสาบเดดซีในอดีต นักโบราณคดีค้นพบม้วนหนังสือโบราณในหลายถ้ำ จึงตั้งรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับหนังสือโบราณทุกชิ้นที่คนนำมามอบให้ ปรากฏว่าชาวบ้านกลับฉีกม้วนหนังสือเป็นชิ้นๆ เพื่อให้ได้เงินรางวัลมากๆ


ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Incentive Super-Response Tendency คนเรามักจะตอบสนองต่อสิ่งจูงใจ แต่ไม่ใช่ตอบสนองต่อเจตนาที่อยู่เบื้องหลังสิ่งจูงใจนั้น ดังนั้น หัวใจสำคัญของการใช้แรงจูงใจให้ได้ผล คือต้องผสานเจตนาเข้าไปกับสิ่งจูงใจให้ได้ ผู้เขียนยกตัวอย่าง พิธีเปิดสะพานในกรุงโรมสมัยโบราณ ที่ให้วิศวกรไปยืนอยู่ใต้สะพานที่ตัวเองออกแบบในวันพิธีเปิด ซึ่งน่าจะทำให้พวกเขาทำงานสร้างสะพานกันให้มีความปลอดภัยสูงสุด


อคติจากการเห็นผู้ที่อยู่รอดหรือประสบความสำเร็จเท่านั้น


ปรากฏการณ์ Survivorship Bias พบเห็นกันทั่วไป เพราะชัยชนะจะถูกนำเสนออย่างเด่นชัดมากกว่าความพ่ายแพ้ เราจึงมักเห็นเพียงผู้ที่ประสบความสำเร็จตามจอโทรทัศน์ หน้าปกนิตยสาร เว็บไซต์ บนเวทีคอนเสิร์ต แผงหนังสือขายดี โดยไม่ค่อยพบข่าวความล้มเหลวของนักเขียน ดารา ศิลปิน บริษัท นั้นทำให้เราอาจจะประเมินโอกาสประสบความสำเร็จของตนเองสูงจนเกินไป การเข้าใจปรากฏการณ์นี้จะทำให้เราป้องกันตนเองช่วยให้มองโลกตามความเป็นจริงได้ดีขึ้น


ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่าง 3 ตัวอย่างเล็กๆ ในหนังสือ หนังสือเล่มนี้ยังประกอบไปด้วยปรากฏการณ์ที่ส่งผลให้เราตัดสินใจผิดๆ อีกมาก เช่นเรื่อง Social Proof, Sunk Cost Fallacy, Confirmation Bias, Hindsight Bias ฯลฯ ผู้เขียนเล่าเรื่องยากๆ เหล่านี้ อย่างง่ายๆ ยกตัวอย่างสนุกๆ หลายเรื่องที่ทำให้เราตาสว่าง มองโลกเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเมื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้น ก็น่าจะทำให้เข้าใจโลกมากขึ้นเช่นกัน

 
 
 

Comments


ThailandFuture (สถาบันอนาคตไทยศึกษา)

เลขที่ 104 ซอย 31 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ

เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

Copyright © 2017-2023 Thailand Future Foundation. All Rights Reserved.

bottom of page