What I wish I Knew When I was 20 By Tina Seeling
หนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งเล่มที่จะมอบแว่นตาอันใหม่ให้เราใช้มองอุปสรรคต่างๆ ที่พบเห็นในทุกๆ วัน แล้วหาวิธีเปลี่ยนมันเป็นธุรกิจหรือนวัตกรรมทางสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ หนังสือ What I wish I Knew When I was 20 เล่มนี้โด่งดังในต่างประเทศมาหลายปีแล้ว (ฉบับภาษาไทยแปลโดย คุณพรเลิศ อิฐฐ์ และธัญลักษณ์ เศวตศิลา สำนักพิมพ์วีเลิรน์)
ภารกิจสุดหิน
ผู้เขียนเล่าเรื่องสนุกๆ ในการเรียนการสอนนักศึกษาวิชานวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยชั้นเรียนจะเริ่มต้นจากภารกิจสุดหิน คือการมอบเงินให้นักศึกษาทีมละ 5 ดอลลาร์ เพื่อนำไปทำเงินกลับมาให้มากที่สุด แล้วจึงกลับมานำเสนองานในวันจันทร์ถัดไป นักศึกษาจะต้องรับบทผู้ประกอบการ มองหาโอกาส เพื่อปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมา
ผลปรากฏว่า ทีมที่หาเงินได้มากที่สุด มีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ โดยไม่ได้แตะเงิน 5$ นั้นเลย ทีมนี้มองว่าทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด คือ เวลานำเสนองานในห้อง พวกเขาเลยขายเวลาให้บริษัทแห่งหนึ่งที่ต้องการรับสมัครนักศึกษา แล้วรับจ้างผลิตโฆษณาความยาว 3 นาทีเพื่อฉายในวันนำเสนองานนั้น แล้วได้เงินมา 650$ โจทย์ความท้าทาย 5$ นี้เป็นหนึ่งในบทเรียนที่สอนนักศึกษาให้มีความคิดเป็นผู้ประกอบการ
มุมมองใหม่ๆ ที่ได้จากการทำโจทย์ความท้าทายจะทำให้นักศึกษาได้เห็นว่า โอกาสมีอยู่อย่างมากมาย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใดหรือเวลาใดก็ตาม ยิ่งปัญหาใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนั้น เราจะได้เห็นว่า ไม่ว่าปัญหาจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน เราก็จะสามารถคิดหาวิธีการที่สร้างสรรค์เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เข้าไปแก้ไขปัญหานั้นได้
ผู้เขียนยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของหลักสูตรการลงทุนทางเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีเป้าหมายสอนวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ให้มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ พยายามสร้างคนให้มีลักษณะแบบตัว T คือเป็นคือเป็นคนที่มีความรู้เชิงลึกอย่างน้อยหนึ่งสาขา และมีความรู้กว้างๆ เกี่ยวกับนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ
ค้นหาความต้องการ
ขั้นตอนแรกของการแก้ไขปัญหา คือ การค้นหาความต้องการ และกุญแจสำคัญของการค้นหาความต้องการคือการบ่งชี้ช่องว่างและเข้าไปเติมเต็มช่องว่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่องว่าของการใช้งานผลิตภัณฑ์ ช่องว่างของการบริการ หรือช่องว่างของเรื่องราว การเป็นผู้ประกอบการหมายถึงการมองว่าโลกนี้เต็มไปด้วยโอกาส และคุณสมบัติแรกที่จำเป็นต้องมีคือ การคิดว่าไม่ว่าปัญหาใด ก็สามารถแก้ไขได้ เราสามารถค้นหาปัญหาได้จากสิ่งรอบตัว หน้าหนังสือพิมพ์ การระดมสมอง หรือการพบปะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ผู้เขียนเห็นว่าโลกของเรามีคนอยู่ 2 ประเภท คือ คนที่ต้องรอให้คนอื่นอนุญาตก่อนจึงจะลงมือทำสิ่งที่อยากทำ และคนที่อนุญาตให้ตัวเองทำสิ่งที่อยากทำเลย บางคนมองหาแรงจูงใจจากภายใน แต่บางคนจะรอให้มีปัจจัยภายนอกมาเป็นแรงขับเคลื่อน หากเรามีแรงจูงใจจากภายในและตัดสินใจลุยเลย โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร จะช่วยให้เราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ล้มไปข้างหน้า
ประเด็นสำคัญอีกประการคือ การเรียนรู้จากความล้มเหลว กุญแจสู่ความสำเร็จไม่ใช่การหลบลูกกระสุนให้ได้ทุกนัด แต่เป็นการฟื้นตัวให้ได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกยิง และหากเราก้าวเท้าออกไปทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เราก็จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่อยู่เฉยๆ ที่รอโชควิ่งเข้ามาหาเอง ความล้มเหลวอาจเป็นโอกาสอันงดงาม เพราะบีบให้เราต้องประเมินเป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญใหม่ทั้งหมด และมักจะช่วยผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่าในช่วงเวลาที่เราประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
หน้าที่ของเราคือการมองหาบทบาทที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าเป็นการทำงาน ซึ่งเป็นจุดที่ทับซ้อนกันระหว่างทักษะ ความรัก และความต้องการของตลาด เรื่องราวต่างๆ ในหนังสือจะช่วยให้เรามองเห็นชัดเจนขึ้นว่า โอกาสอันไม่สิ้นสุดเกิดจากการดึงตัวเองออกจากเขตแดนแห่งความสบายใจ เต็มใจที่จะล้มเหลว เมินเฉยต่อความเป็นไปไม่ได้ทั้งปวง และฉกฉวยทุกโอกาสที่จะสร้างเรื่องอัศจรรย์ และทำให้มั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้
มองโลกในสายตานักท่องเที่ยว
ทอม เคลลีย์ แห่งบริษัท IDEO ให้คำแนะนำไว้ว่า
ในแต่ละวัน คุณควรทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยวที่กวาดตามองสภาพแวดล้อมรอบตัวด้วยสายตาอันว่องไว เพราะในชีวิตประจำวัน เรามีแนวโน้มที่จะปิดหูปิดตาและใช้ชีวิตไปอย่างอัตโนมัติ แต่เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศ คุณจะมองโลกด้วยสายตาที่สดใหม่ คุณจะซึมซับประสบการณ์มากกว่าปกติหลายเท่า ดังนั้น ขอเพียงแค่เปิดรับ คุณก็จะพบสิ่งที่น่าทึ่งมากมายรอคุณอยู่ตลอดเส้นทางที่คุณก้าวเดินไปเลยทีเดียว
หนังสือเล่มนี้มอบแว่นตาให้เราเห็นโลกในมุมที่ต่างออกไป เล่าตัวอย่างการสร้างธุรกิจมากมาย และเต็มไปด้วยข้อความที่สร้างแรงบันดาลใจ เมื่อเรามองเห็นปัญหารอบตัวเป็นโอกาส ปัญหาก็จะไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป และเมื่อเราเปลี่ยนปัญหาเป็นธุรกิจ นวัตกรรมทางสังคมหรือ Solution ใหม่ๆ ก็จะทำให้เราสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมและประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องโทษใครๆ หรือรอคนอื่นมาแก้ไขปัญหา สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือการอนุญาตตัวเองให้ลงมือทำได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ใครมาอนุญาตอีกต่อไป
Comments