Poor Economics by Abhijit Baherjee and Esther Duflo (2012)
ความยากจนเป็นความท้าทายหลักที่สำคัญอันดับต้นๆ ของแต่ละประเทศ ความยากจนถือเป็นความท้าทายในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และในเชิงศีลธรรม มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ริเริ่ม โครงการไมโครเครดิตจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับธนาคารกรามีน เคยฝันถึงโลกที่ปราศจากความยากจน ถึงขนาดจะให้เด็กรุ่นใหม่ในอนาคตต้องไปเรียนรู้เรื่องความยากจนในพิพิธภัณฑ์เลยทีเดียว
หนังสือ Poor Economics: A Radical Rethinking of the Way to Fight Global Povertyของ Abhijit Banerjee และ Esther Duflo เป็นหนังสือชั้นนำที่เขียนโดยนักวิชาการจาก MIT และผู้บริหาร Poverty Action Lab หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลหนังสือธุรกิจดีเด่นประจำ ปี 2011 โดย The Financial Times/Goldman Sachs

ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าประชากรของโลกประมาณ 7,000 พันล้านคน มีคนยากจน 865 ล้านคน คนยากจนวัดจากการมีรายได้น้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ดังนั้นถือว่าคนยากจนในโลกมีสัดส่วน 12% ของประชากรโลก กลุ่มคนจนดังกล่าวไม่สามารถทำลายวงจรความยากจนของตนไปได้ มีชีวิตที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดความสามารถเพื่อเข้าถึงสาธาณสุขพื้นฐาน เช่น วัคซีน น้ำสะอาด ตลอดจนยังขาดโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การประกอบอาชีพ และการบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ
หนังสือเล่มนี้ร้อยเรียงงานวิจัยของผู้เขียนและนักวิชาการต่างๆ เน้นข้อค้นพบจากการใช้วิธีวิจัยแบบ Randomized Controlled Trials (RCTs) ซึ่งเป็นวิธีที่พยายามวัดผลกระทบจากการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความยากจน โดยการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เหมือนกันที่สุด 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม กับกลุ่มทดลอง ในกลุ่มทดลองแตกต่างเพียงมีการแทรกแซงจากนโยบายหนึ่งเท่านั้น ผู้เขียนชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของคนจนสามารถส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้
ที่ผ่านมา ความเชื่อที่มีต่อสาเหตุของความยากจน คือ การขาดสารอาหาร ซึ่งการขาดอาหารทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลให้ยากจน ดังนั้น การช่วยเหลือจึงมุ่งให้สารอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เงินช่วยเหลือเพื่อไปใช้ซื้ออาหารนั้น คนที่ได้รับเงินอาจไม่ได้นำไปซื้ออาหารที่มีสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการตามความประสงค์ของผู้ช่วยเหลือ เงินที่ได้จากความช่วยเหลือมักจะถูกไปใช้ซื้ออาหารที่มีรสชาติดีขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นที่จะให้สารอาหารที่ดีขึ้น หรือนำไปซื้อของฟุ่มเฟือยอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ บุหรี่ ชา เป็นการหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ท่ามกลางความยากลำบากของชีวิต
งานวิจัยพบว่ากลุ่มคนยากจนที่ควรให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษคือกลุ่มเด็กเนื่องจากเด็กที่ได้รับสารอาหารที่ดีและเพียงพอจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงสามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองได้ต่อไป ดังนั้น การก้าวข้ามกับดักความยากจนจึงมุ่งให้สารอาหารแก่หญิงตั้งครรภ์และเด็กเป็นสำคัญ การให้เงินไปซื้ออาหารโดยไม่ได้มีการติดตามตรวจสอบอาจไม่ได้ส่งผลตามที่ต้องการ
แม้จะให้ความช่วยเหลือคนจนด้านสุขภาพ โดยให้น้ำสะอาด วัคซีน และมุ้งกันยุงเพื่อป้องกันมาเลเรีย แต่คนจนไม่ค่อยใช้สิ่งเหล่านี้ จึงเกิดการเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น การวิจัยพบว่าคนจนต้องการไปหาหมอเพื่อรักษาโรคมากกว่าการป้องกันโรคล่วงหน้า นอกจากนั้น บริการสาธารณะที่คนชั้นกลางหรือคนรวยได้มาอย่างง่ายๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น น้ำสะอาด การฉีดวัคซีนให้เด็กที่โรงเรียน ก็เป็นสิ่งที่คนยากจนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง
ในชีวิตของคนทุกคนล้วนเผชิญกับความเสี่ยง แต่คนจนมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงน้อยกว่าคนรวย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางด้านรายได้ งานหรือสุขภาพ คนจนจึงมีระดับความเครียดและความกดดันสูง จึงมีระดับฮอร์โมนความเครียดหรือฮอร์โมนคอร์ติชอลสูง ส่งผลต่อความสามารถด้านการคิดและการตัดสินใจ
คนจนบริหารจัดการความเสี่ยงโดยการกระจายแหล่งรายได้ทั้งจากการเกษตรและการทำงานในเมือง งานวิจัยค้นพบว่า คนจนมักไม่กล้าเสี่ยง เพราะกลัวสูญเสียและไม่มีตาข่ายรองรับ คนจนจึงมักไม่ทดลองใช้วิธีการใหม่ๆ ในการทำงาน หรือใช้พันธุ์พืชใหม่ๆ ซึ่งทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาหรือนวัตกรรม คนจนยังเข้าไม่ถึงระบบประกัน เช่น ประกันสุขภาพหรือประกันความเสี่ยงพืชผล ซึ่งไม่มีตลาดเอกชนใดจะจัดให้ ภาครัฐจึงต้องมีบทบาทเข้ามาอุดหนุนเพื่อช่วยให้คนจนบริหารความเสี่ยงได้
การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นอีกปัญหาที่สำคัญของคนจน ไมโครเครดิตเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อช่วยให้คนจนสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ ได้ ไมโครเครดิตเรียกเก็บดอกเบี้ยต่ำกว่าเจ้าหนี้นอกระบบ แต่มีกำหนดการชำระหนี้ที่แน่นอนและเข้มข้นกว่าโดยใช้ระบบแรงกดดันจากกลุ่ม (peer pressure) อย่างไรก็ตาม คนจนบางกลุ่มไม่ใช้ประโยชน์จากไมโครเครดิต โดยกู้หนี้จากเจ้าหนี้นอกระบบต่อไปเนื่องจากเงื่อนไขการชาระหนี้มีความยืดหยุ่นกว่า แม้จะเก็บดอกเบี้ยสูงกว่า
ในด้านการออมเงิน เนื่องจากการมีบัญชีธนาคารถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับคนจน คนจนจึงมักค่อยๆ เก็บเงิน ซึ่งมักเก็บออมได้ยาก เนื่องจากเผชิญกับความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด รวมถึงปัญหาจากเงินเฟ้อและการขาดการวางแผนที่ดี ดังนั้น การตัดสินใจออมหรือใช้จ่ายในวันนี้ยังเป็นปัญหาที่ยากลำบาก ที่ผ่านมา เริ่มมีความริเริ่มใหม่ๆ เช่น การให้บริการธนาคารทางโทรศัพท์ หรือใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในธนาคารของคนจน
หนังสือเล่มนี้ได้สรุปและเสนอ 5 วิธีในการขจัดความยากจนไว้เป็นหลักคิดในการแก้ไขปัญหาต่อไป คือ เริ่มจากการให้ข้อมูลความรู้ในเรื่องพื้นฐานต่างๆ แก่คนจนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับโครงการการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ต้องทำให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้คนจนปฏิบัติตามได้ง่ายๆ โดยเฉพาะการกำหนดทางเลือกที่ดีและเหมาะสมแบบอัตโนมัติ (Default options) ส่วนรัฐบาลควรอุดหนุนหรือช่วยเหลือในกรณีที่ไม่มีสินค้าและบริการนั้นๆ สำหรับคนจน เช่น ธนาคาร ประกันภัย
นโยบายควรพยายามเอาชนะ “3 I” ให้ได้ คือ Ignorance (ความไม่รู้) Ideology (ความเชื่อที่อาจผิดๆ) และ Inertia (ความเฉื่อยชา) สุดท้ายคือ การเอาชนะความท้าทายทีละเล็กละน้อย เพราะการประสบความสำเร็จในเรื่องเล็กๆ จะนำไปสู่ความสำเร็จในเรื่องอื่นๆ เมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น คนจนจะเริ่มเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อไปในทางที่ดีขึ้นจนสามารถออกจากกับดักความยากจนได้ในที่สุด
Commentaires