top of page
Search

ถอดบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 สู่โอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

สรุปประเด็นเสวนาจาก Clubhouse “Lessons from the Crisis ถอดบทเรียนจากวิกฤติ Clubhouse Series ครั้งที่ 2 เรื่อง Local Economy” จัดโดย ThailandFuture และ Thailand Policy Lab


คุณณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร ThailandFuture กล่าวเปิดการเสวนาว่า วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก ประกอบกับเศรษฐกิจฐานรากของไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร โดยแรงงานในภาคเกษตรมีสัดส่วนถึง 30% ของประชากร แต่กลับสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่า 10% แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่ออุดหนุนด้านการเกษตร แต่ภาคเกษตรยังมิได้มีมูลค่าหรือแสดงศักยภาพของประเทศเท่าที่ควร นอกจากนี้มีการประมาณการว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้แรงงานย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเกิดกว่า 1 ล้านคน ซี่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือที่ได้สะสมความรู้จากการทำงานในเมือง เราจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากการย้ายถิ่นฐานของแรงงานกลุ่มนี้ได้อย่างไร และเป็นที่น่าสนใจว่าเศรษฐกิจฐานรากเป็นรากฐานที่สำคัญ ในขณะที่ปัจจุบันยังมีประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและปัญหาความยากจน ดังนั้น หากสามารถเปลี่ยนภาคเกษตรให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศได้จะส่งผลให้อนาคตของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ


"เพราะเศรษฐกิจฐานรากของไทยมีภาคเกษตรซึ่งรวมถึงทุนวัฒนธรรมเป็นรากฐานที่ใหญ่ที่สุด.."


ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในภาพรวมของวิกฤติโควิด-19 ต่อภาคเกษตรของไทยว่า การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการบริโภคที่ลดลงทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินในช่วงแรก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวจากการเชื่อมโยง global value chain เป็นการมองหา regional supply chain เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิต อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นต้นน้ำการผลิตได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา ที่มีเกษตรกรจำนวนมากทำการผลิต ในขณะที่สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปกลับมาฟื้นตัวและส่งออกได้ดี ได้แก่ ผลไม้ ประมง และปศุสัตว์ อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนการผลิตทำได้ลำบากเนื่องจากสินค้าเกษตรแต่ละประเภทมีวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน รวมทั้งเกษตรกรไทยยังมีความเป็นผู้ประกอบการต่ำ ทำให้ไม่รู้และไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ อันเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความยากจนในเกษตรกร Scenario ที่เกิดขึ้นทำให้เมื่อเกิดอุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรที่ยังมีโอกาสในการส่งออกจะต้องหาทางออกโดยการแปรรูปและการหาช่องทางการตลาดที่เป็นการขายสินค้าแก่ผู้บริโภคโดยตรง


นอกจากนี้ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ได้ชี้ถึงประเด็นสำคัญในเชิงนโยบายว่า การออกแบบระบบนิเวศ ที่เหมาะสมเอื้อต่อการส่งเสริมเกษตรกรที่ประกอบการนั้นเป็นสิ่งจำเป็นการมีแพ็กเกจนโยบายที่สนับสนุนเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหากไม่ได้ดำเนินการก็ก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส


ประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมแต่เรามองข้ามไป เราต้องใช้โอกาสนี้สร้างความเข้มแข็งในเชิงพื้นที่..


"ภาครัฐต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งตามจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ที่มีเสน่ห์แตกต่างกัน และเกิดเป็นของดีประจำถิ่น พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณและส่งเสริมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินการ"


คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นในมุมมองของผู้มีประสบการณ์การทำงานส่วนท้องถิ่นมากกว่า 18 ปี เศรษฐกิจภาคใต้ภายหลังวิกฤติโควิด-19 อาจจะไม่มั่งคั่งเช่นเดิม หากไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยวใน GPP ภาคใต้อาจจะเป็นภูมิภาคที่จนที่สุด และเมื่อพิจารณา GPP ของจังหวัดยะลา พบว่า ภาคเกษตรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คิดเรื่องการฟื้นฟูเมืองและภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากแรงงานภาคเกษตรในจังหวัดยะลาคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ถ้าทำให้ภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคการผลิตจริงมีรายได้ดีจะส่งผลให้เศรษฐกิจภายในเมืองดีและมีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น เทศบาลนครยะลาจึงกลับไปให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคเกษตร และอยู่ระหว่างการพิจารณาการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์และเกิดคลัสเตอร์การเกษตรมูลค่าสูง จึงทำให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตร คือ 1. Mindset ของเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญ 2. การนำเทคโนโลยีมาใช้ทำการเกษตร เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ทำให้เกษตรกรยังคงทำการเกษตรแบบดั้งเดิม 3. ขาดแบรนด์สินค้าของตนเอง และ 4. การไม่เรียนรู้ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง


ทั้งนี้ คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ได้เล่าถึงกรณีของยะลาที่ได้ดำเนินการพัฒนาเกษตรท้องถิ่น ร่วมกับเกษตรกรพัฒนาสินค้าให้เป็นเกรดพรีเมียม รวมไปถึงพัฒนาเมืองยะลา พัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่ทำให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) หากท้องถิ่นหรือจังหวัดต่างๆ พัฒนาเอกลักษณ์เศรษฐกิจของตนขึ้นมาได้ก็จะสร้างเสน่ห์ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้


อุตสาหกรรมเกษตรของไทยมีความสำคัญมาก เกษตรและอาหารแปรรูปเป็นสินค้าที่ไทยสามารถเริ่มต้นการผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ Digital Transformation ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตร..


"เพราะการพัฒนาประเทศต้องเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ซึ่งจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ"


คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO, Ricult เป็น Startup ที่ทำแอปพลิเคชันสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร และซอฟต์แวร์สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการในการบริหารจัดการ Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ กล่าวถึงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานตกงาน รายได้ที่ส่งกลับครัวเรือนต่างจังหวัดลดลง และต้องย้ายถิ่นฐานกลับบ้าน แม้ว่าช่วงเวลานี้จะเกิดวิกฤตแต่ก็มองอีกด้านได้ว่าเป็นโอกาสให้แรงงานที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนกลับไปช่วยทำการเกษตรสมัยใหม่ และภาครัฐจึงควรใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร


รัฐบาลควรมีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะตามมาภายหลังวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคเกษตร ได้แก่ Climate change เนื่องจากเกษตรกรกว่า 80% พึ่งพาน้ำฝนในการทำการเกษตรและมีระบบชลประทานที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งหากเจอภัยแล้งหรือน้ำท่วมจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อผลผลิต ทำให้ขาดทุนและขาดรายได้ และ Aging Society ..


"เนื่องจากแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นและแรงงานน้อยลง จึงต้องสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเป็นการทำเกษตรที่พึ่งพาเทคโนโลยีและเครื่องจักรมากขึ้น"


บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องกลับมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตรอันเป็นรากฐาน ที่สำคัญของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถแสวงหาโอกาสและพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในโลกหลังโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็ง จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองของ ThailandFuture ร่วมกับนักยุทธศาสตร์และนโยบาย ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการด้านการเกษตรสมัยใหม่ ทาง ThailandFuture ได้ประมวลประเด็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง สรุปดังนี้



  1. การปรับตัวของเกษตรกร

เกษตรกรต้องปรับจากการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การผลิตแบบใหม่ การทำเกษตรผสมผสาน การผลิตสินค้าเกษตรพรีเมียมและ GAP เกษตรกรในยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้แข่งขันแต่ในประเทศต้องแข่งกับต่างประเทศด้วยและถ้าไม่ปรับตัวก็จะแข่งขันไม่ได้ ทั้งนี้ ข้อดีของเกษตรกร คือ มีความพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองโดยดูจากเกษตรกรต้นแบบ รัฐต้องหาค้นหาต้นแบบหรือผู้นำชุมชนให้เจอเพื่อจูงใจเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนการผลิตที่นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

  1. การปรับตัวของภาครัฐ

  • รัฐต้องปรับ Mindset ที่มีต่อเกษตรกรจากการเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรให้เป็นผู้ประกอบการ เพราะเกษตรกรต้องหาแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์และวัตถุดิบสำหรับการทำเกษตรต่าง ๆ รวมทั้งการจ้างแรงงานดูแล/เก็บเกี่ยวผลผลิต และการหาช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิต จึงเปรียบเสมือนผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำกิจการค้าขาย เพียงแต่ผลผลิตของเกษตรกรมีฤดูกาล ในการผลิตและจำหน่าย รวมทั้งปรับทิศทางการส่งเสริมที่ไม่ให้ความสำคัญเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเท่านั้นแต่ต้องทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น

  • รัฐต้องปรับนโยบายให้เป็น Integrated System สนับสนุนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เกษตรและอาหารแปรรูปเป็นสินค้าที่ไทยสามารถเริ่มต้นการผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นโยบายภาคเกษตร จึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปรับจากการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การผลิตแบบใหม่ สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่าย โดยที่เกษตรกรต้องมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการและมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

  • รัฐต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ในยุคหลัง โควิด-19 รัฐต้องทำงานให้ยืดหยุ่นและรวดเร็วขึ้น การให้อิสระในการทำงานแก่ส่วนท้องถิ่นจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและนวัตกรรมในพื้นที่ รวมทั้งการบริหารท้องถิ่นจากคนท้องถิ่นจะทำให้เกิดความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมเพิ่มขึ้น



การปรับตัวของภาครัฐข้างต้นจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทิศทางและแนวนโยบายให้การส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก โดยการส่งเสริมจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ แนวทางในภาพรวม และแบบเฉพาะกลุ่ม ดังนี้

  1. แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวม เพื่อให้เกิดเป็น Integrated System รัฐจะต้องมีนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานและด้านการกระตุ้นอุปสงค์การบริโภคสินค้าเกษตร เพื่อให้เกิด local economy ที่จะสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น

ด้านการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน

  • สร้างระบบพี่เลี้ยงแก่เกษตรกรหน้าใหม่ โดยให้มหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้เป็นหน่วยงานกลาง ในการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเข้าไปพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมเกษตรกรร่วมกับวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่อแนะนำวิธีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การกำหนดราคา และการติดต่อกับบริษัทขนส่ง เพื่อให้เกษตรมีรายรับเพิ่มขึ้นจากการขายที่ไม่ผ่านคนกลาง และภาครัฐอำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งหากรัฐให้การสนับสนุนเช่นนี้จะจูงใจให้แรงงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสนใจทำการเกษตรมากขึ้น

  • ส่งเสริมให้เกษตรกรทำบัญชีครัวเรือนเพื่อใช้ในการควบคุมต้นทุนและวางแผนการผลิต จากการลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องการทำบัญชีครัวเรือนแก่เกษตรกรที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างมาก เนื่องจากเกษตรกรเห็นภาพรายจ่ายที่เกิดขึ้นของครัวเรือนตนเองเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในระดับหมู่บ้านและตำบล จึงเริ่มคิดหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย สารเคมี เป็นต้น โดยเกษตรกรมีกลยุทธ์ในการลดรายจ่าย ได้แก่ ลดการบริโภคของที่ไม่จำเป็น ปลูกพืชผักกินเอง ลดต้นทุน การผลิต เพิ่มผลิตภาพการผลิต และรวมกลุ่มการผลิตเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองราคาวัตถุดิบ

  • ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตภาพการผลิตทั้ง Land and Labor Productivity ส่งเสริมให้เกษตรกรวางแผนและใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดผลอย่างเต็มที่ เกษตรกรไม่มีปัญหากับการเช่าที่ดินทำกินหากยังคงมีผลผลิตต่อไร่และรายได้จากการทำการเกษตรดี นอกจากนี้ กฎหมายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบบใหม่ทำให้เจ้าของที่ดินมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการครองโดยไม่ทำประโยชน์เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีหากมีหน่วยงานหรือระบบบริการจัดการที่เข้ามาช่วยจับคู่ความต้องการระหว่างเจ้าของที่ดินและเกษตรกรที่ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งจะทำให้สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

  • สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเป็นการทำเกษตรที่พึ่งพาเทคโนโลยีและเครื่องจักรมากขึ้น และส่งเสริมให้แรงงานที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนกลับไปช่วยทำการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคเกษตรลดลงและแรงงานสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น

  • สนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยให้ท้องถิ่นทำสินค้าเกษตรตามเอกลักษณ์และ ความโดดเด่นแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละจังหวัดมีของดีแตกต่างกัน ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตรในท้องถิ่นหรือสินค้า GI (Geographical Indication) ให้เกิดเป็นสินค้าอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูง และมีการเล่าเรื่องราวตามอัตลักษณ์ที่ต่างกันของแต่ละพื้นที่เพื่อสนับสนุนให้สินค้าเกษตรมีความหลากหลายและแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ในอนาคตไม่ควรมุ่งเน้นสนับสนุนเกษตรกรให้เพาะปลูกเฉพาะ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชมูลค่าต่ำ โดยเฉพาะข้าว ที่หากคำนวณต้นทุนการผลิตและรัฐบาลไม่อุดหนุนราคาคาดว่าชาวนาเกินครึ่งประสบปัญหาขาดทุน สาเหตุสำคัญมาจากสินค้าเกษตรเหล่านี้เป็นสินค้า commodity ที่กำหนดราคาเองไม่ได้เป็นไปตามราคาตลาดโลก

  • สนับสนุนการลดต้นทุนการบริหารจัดการ Supply Chain ของเกษตรกร ซึ่งจะเป็น การช่วยเหลืออย่างตรงจุดแก่เกษตรกรในการเริ่มต้นทำ B2C รวมทั้งให้ความสำคัญกับการหาตลาดในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาการขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียได้ง่าย

  • ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากแปลงเกษตรที่มี Landscape/Scenery ที่สวยงามตามธรรมชาติในการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และทำให้เกิดเป็น Soft Power ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และมุ่งเน้นความยั่งยืนของการท่องเที่ยว

  • ลงทุนด้าน Digital Infrastructure Structure และ Digital Literacy เสริมสร้างโอกาสใ นการเรียนรู้และการขยายช่องทางการตลาด การวางแผนการผลิต การมีระบบข้อมูลของตลาดสินค้าเกษตร (Big Data) เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งประเทศไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้

  • ควรมีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหา Climate change ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ต้องทำให้เกษตรกรมีระบบชลประทานที่ทั่วถึง และในหลายประเทศเปลี่ยนไปทำการเกษตรแบบโรงเรือน เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ

ด้านการกระตุ้นอุปสงค์การบริโภคสินค้าเกษตร

  • สร้าง ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการภาคเกษตร โดยการผ่อนคลายและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ในหลายประเทศเริ่มมีกฎระเบียบในลักษณะที่ให้ดำเนินการไปก่อนแล้วใช้ การตรวจสอบที่เข้มข้นแทน (Post Audit) ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมในสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ SMEs ให้ซื้อผลผลิตของเกษตรกรมาแปรรูป (ท้องถิ่นนิยม) ซึ่งจะตอบโจทย์นโยบาย BCG ด้วย และให้ท้องถิ่นมีส่วนในการสนับสนุนผู้ประกอบการแบบ Friendly Competition ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรไปเชื่อมโยงกับเรื่องท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรรวมถึงส่งเสริมให้ SMEs มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นอีกด้วย



  1. นโยบายแบบเฉพาะกลุ่ม เนื่องจาก Demographic ของเกษตรกรมีความหลากหลาย โดยเฉพาะรายได้ที่แตกต่างกันมาก จึงไม่มีนโยบายที่ one size fit all ที่เหมาะสมกับภาคการเกษตร ภาครัฐควรกำหนดนโยบายให้การส่งเสริมที่แตกต่างกัน เช่น พืชไร่-พืชสวน และเกษตรกรยุคใหม่-เก่า เป็นต้น

  • ส่งเสริมเกษตรกรตามทุนและทักษะ สำหรับทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รัฐสามารถนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ได้ แต่การรับรู้หรือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของเกษตรกรแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาส่งเสริมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลตามความเหมาะสม

กลุ่มที่ 1 คือ เกษตรกรที่มีทุนน้อย ความรู้และทักษะน้อย เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและลำบากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง รอการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียว รัฐจะต้องส่งเสริมโดยวิธี 1. ใช้โมเดลความร่วมมือระหว่าง อปท. กับมหาวิทยาลัยในการแก้ปัญหาเรื่องทุนและทักษะ รวมทั้งการจัดการที่ดินว่างเปล่าร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและ อปท. เพื่อจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดิน ทำกิน 2. สนับสนุนทักษะผู้ประกอบการเบื้องต้น ได้แก่ การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้รู้ต้นทุนการผลิตของตัวเองซึ่งจะนำไปสู่การวางควบคุมต้นทุนและวางแผนการผลิต และ 3. สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดอำนาจการต่อรองราคา นำไปสู่การสร้างและควบคุมมาตรฐานการผลิต พัฒนาและแปรรูปการผลิต


กลุ่มที่ 2 คือ เกษตรกรที่มีทุนน้อย แต่มีความรู้และทักษะบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรธรรมดาที่มีสมาร์ทโฟน เริ่มโหลดแอปพลิเคชันต่าง ๆ มาใช้ เช่น การพยากรณ์อากาศ การทำบัญชีเบื้องต้น เป็นต้น รัฐจะต้องส่งเสริมโดยวิธี 1. ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อให้มีทุนเริ่มต้นมากขึ้น 2. สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และตลาด และ 3. ส่งเสริมให้เกษตรกรรู้ความต้องการของตลาดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งรู้จักวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่ม Land Productivity ตัวอย่าง เกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่ผลิตโดยรู้ว่ากลุ่มลูกค้าคือใครและรู้ปริมาณความต้องการของตลาด ตรงกันข้ามกับการผลิตของเกษตรกรไทย


กลุ่มที่ 3 คือ เกษตรกรที่มีทุน และมีความรู้และทักษะพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง เป็นกลุ่มเกษตรกรหัวกะทิ/สมัยใหม่ที่นำ IOT นวัตกรรม ระบบน้ำแบบใหม่ มาใช้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิม รัฐจะต้องส่งเสริมโดยวิธี 1. ส่งเสริมให้ทำ Precision farming นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต และ 2. ส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานผลผลิต การสร้างแบรนด์ การขยายช่องทางทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ การขนส่งและระบบโลจิสติกส์สินค้า การกำหนดราคา การจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงจาก Climate Change


เศรษฐกิจฐานรากมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ โดยภาคส่วนต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยน ภาครัฐเองเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยน การปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานระบบรัฐราชการใหม่ การกระจายอำนาจ การสร้างท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง รวมไปถึงการมองภาคเกษตรให้ครบทั้ง Value Chain ครอบคลุมถึงการแปรรูปและการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน การจัดระบบนิเวศที่เหมาะสม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ในขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็ต้องปรับจากการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การผลิตแบบใหม่ และเป็นโอกาสของแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานกลับบ้านในการทำ Digital Transform ภาคเกษตรและการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและเข้มแข็งได้มากยิ่งขึ้น




เรียบเรียงโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล และดวงกมล แก่นสาร

สื่อสารด้วยภาพโดย อธิปัตย์ เพ็งผลา

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/


348 views0 comments
bottom of page