วันนี้ผมอยากชวนทุกคนมาคุยกันอย่างจริงจังเรื่องอนาคตของชาติ
วันนี้แม้แต่ชีวิตและปากท้องอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของพวกเราก็กำลังถูกคุกคาม มองไปข้างหน้า หนทางยังมืดหม่น ดั่งที่ Nikkei Recovery Index แปะประเทศไทยไว้ที่ 118 จาก 120 ประเทศ
เราอยู่ตรงจุดที่ว่า สูดหายใจข้างนอกเสี่ยงตาย นอนอยู่ดี ๆ กลางดึกเสี่ยงตาย เดินทางบนถนนเสี่ยงตาย แม้กระทั่ง พูดคุยกินข้าวกับพ่อแม่พี่น้องก็เสี่ยงตาย
จาก Wave 1 มาจนถึงทุกวันนี้ เรายังไม่เห็นความหวังหรือแผนการชัดเจนว่าสังคมไทยจะไปสู่อนาคตหลังวิกฤติ COVID-19 อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ยังไม่มีแผนการระยะยาวที่จะแบ่งความลำบากจาก Shock ครั้งนี้ให้ไม่สร้างแผลเป็นกับครัวเรือนรายได้น้อยหรือผู้ประกอบอาชีพที่ถูกกระทบรุนแรง และเรายังไม่เห็นเส้นทางที่จะใช้วิกฤติเป็นโอกาสพลิกเกมปัญหาเศรษฐกิจติดหล่มมายาวนานให้กลับไปเป็น “เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” อย่างที่เราเคยมีความหวัง
ปัญหาอื่น ๆ ที่เคยรุมเร้าเรารอบด้านมาหลายสิบปีได้แผลงฤทธิ์พร้อมกันในวันนี้
ได้กลิ่นไหมครับ ไฟกำลังไหม้บ้านของพวกเราอยู่
และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในกระบวนการออกแบบและดำเนินนโยบายระดับประเทศ บ้านของพวกเราจะพังในไม่ช้า ทั้งตัวบ้าน ทั้งตัวคน รวมถึงอนาคตของพวกเราที่กำลังถูกควันไฟค่อย ๆ กลบจนมองไม่เห็น
“ไฟแห่งปัญหา” ของประเทศไทยมีจำนวนมากจนไม่สามารถเขียนลงมาบนแผ่นกระดาษแผ่นนี้ได้หมด บางจุดเกิดมาเป็นสิบปีโดยไม่มีใครเคยดับได้สำเร็จ บางจุดเพิ่งลุกไหม้แต่ลุกลามอย่างรวดเร็ว บางจุดเป็นการใส่ฟืนกันเข้าไปเอง
ไฟปัญหาเก่ารุมเร้า
“ปัญหาเก่า” เรื้อรังมายาวนานทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
ในด้านเศรษฐกิจ จากที่เราเคยเป็นถึงว่าที่ “เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” วันนี้เราเป็นได้แค่ “เสือทิพย์” ที่ได้แต่คอยลุ้นไม่ให้เวียดนามแซงเราไปอีกหนึ่งด้าน
เศรษฐกิจไทยไม่สามารถโตได้ตามศักยภาพที่เรามี เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว GDP ต่อหัวเราเท่าเกาหลีใต้ แต่มาวันนี้ GDP ต่อหัวเขากลับสูงกว่าเราราว 4 เท่า
และถึงโตก็ “รวยกระจุก จนกระจาย” ถ้าประเทศไทยมีผู้ฝาก 100 คน รายใหญ่สุดเพียง 10 คนมีเงินฝากรวมถึง 93% ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด และกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ แทบทั้งสิ้น คนที่รวยที่สุด 20% แรกของประเทศครอบครองทรัพย์สินไปแล้วถึง 67% ของทรัพย์สินทั้งหมด
ซ้ำร้าย อัตราการเติบโตที่ไม่สมมาตรและนิสัยไม่รักการออม ใช้เงินเกินตัว คนไทยเข้าวงจรอุบาทว์ของปัญหาหนี้เรื้อรังที่ค่อย ๆ กัดกินฐานะการเงินครัวเรือนไทยมาหลายทศวรรษ เราเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น มูลค่าสูงขึ้นและมีอัตราการเบี้ยวหนี้สูงขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยแทบจะเพิ่มกว่า 2 เท่าตัวและวิกฤติ COVID-19 กำลังทำให้หนี้ครัวเรือนอาจพุ่งสูงถึงร้อยละ 90 ต่อ GDP ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมหนี้นอกระบบกว่าอีกอย่างน้อย 640,000 ล้านบาท
และเมื่อลองมองเศรษฐกิจจาก 30,000 ฟุต จะพบว่า 4 องค์ประกอบมหภาคที่สำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของเราได้แผ่วมานานและใกล้พังแล้ว
องค์ประกอบแรก คือ “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” ที่แผ่วลงต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนวิกฤติ COVID-19 เศรษฐกิจไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพ (Productivity Growth) ต่ำเฉลี่ยเพียง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงปี 1999-2007 ที่โตถึง 3.6% ตรงนี้สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่แย่ไม่ใช่เพราะ COVID-19 แต่เป็นเพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจเราเก่าและมีปัญหา
ส่วนภาคท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักที่ปกติช่วยแบกเศรษฐกิจไทยไว้ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเต็มๆ ทำให้ไม่มีภาคเศรษฐกิจที่เราสามารถพึ่งพาได้เลยในยามนี้
องค์ประกอบที่สอง คือ “ทุน” เรามีการลงทุนภาคเอกชนต่ำมานานนับทศวรรษ และถึงเราจะพอมีทุนในระบบแต่ทุนของเราไม่ทั่วถึง สะท้อนได้จากที่มีคนไทยเพียง 5 ล้านคนที่สามารถเข้าสู่ตลาดทุน จากประชากรทั้งหมด ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมก็ยังเข้าไม่ค่อยถึงแหล่งเงินทุนรวมถึงสินเชื่อกว่า 2 ล้านธุรกิจจากทั้งหมด 3.2 ล้านราย
องค์ประกอบที่สาม คือ “ทุนมนุษย์” ที่เราขาดทั้งจำนวนและทักษะสำหรับโลกอนาคต ด้วย Demographic Shift ครั้งนี้ อีกไม่ถึง 10 ปี เราจะมีประชากรวัยแรงงานเพียง 61% และถ้าหากไม่มีการรื้อแนวคิดในการปฏิรูปการพัฒนาทุนมนุษย์ให้สำเร็จ เราจะพบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทักษะเพิ่มสูงขึ้นถึง 45% ซ้ำร้าย หากเรายังไม่สามารถจัดการเรื่องวัคซีนเพื่อแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติได้ดีกว่านี้ และยังไม่มีความชัดเจนกับยุทธศาสตร์ในการแข่งขันเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติ ปัญหาเหล่านี้จะทวีคูณ
องค์ประกอบที่สี่ คือ “สภาวะตลาดและการแทรกแซงของรัฐ” ตลาดในหลาย Verticals ขาดคุณสมบัติที่ดี เกิดความล้มเหลว ในขณะที่รัฐก็ยังสับสนในบทบาทหน้าที่ มือหนักไปในบางครั้ง เดินผิดทิศในบางคราว และทำน้อยไปหรือไม่ทำในบางเรื่อง
ชัดเจน ว่าในเมื่อทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจมหภาคแผ่วและใกล้พังพร้อมกันทั้งหมด จึงเป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยจะโต ยิ่งหากยังหาหนทางออกจากวิกฤตนี้ไม่ได้ ไม่แปลกใจหากเศรษฐกิจจะหดตัวด้วยซ้ำไป
ถึงเราจะเยียวยา จะอัดฉีดด้วยเงินอย่างที่ผ่านมาอย่างไร ก็ไม่ต่างจากการตักน้ำจากฟากหนึ่งของบ่อไปเทลงอีกฟากของบ่อ เพราะมันบ่อเดียวกัน แก้ความแห้งเหือดได้ในบางจุดเพื่อประทังชีวิต แต่ไม่ได้ทำให้น้ำในบ่อมันเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด งานวิจัยของ ธปท. ก็ชี้ชัดว่าเงินอัดฉีดโดยรัฐนั้นเกิดประสิทธิภาพต่ำ มันเป็นการทำแผลชั่วคราวที่ไม่จีรัง ไฟปัญหาเศรษฐกิจจึงยังไม่มอด
ด้านเศรษฐกิจคิดว่าหนักแล้ว ด้านสังคมหนักยิ่งกว่า
การโตแบบ “รวยกระจุก จนกระจาย” ถ่างช่องว่างรวย-จน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเราเห็นภาพคนกลุ่มเล็กสบายขึ้นในขณะที่คนส่วนมากแค่หาเงินเลี้ยงชีพได้วันต่อวันหรือมีที่พักเพื่อเว้นระยะห่างได้บ้างก็นับเป็นโชคดี ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเข้าขั้นยุคสงครามโลก 75% ของประชากรเราไม่ได้ถือครองที่ดิน แต่อีก 10% ถือครอง 95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของที่ดินทั้งหมด ในขณะที่ประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศถือครองที่ดินรวมเพียง 68,000 ไร่คิดสัดส่วนร้อยละ 0.1 ของที่ดินทั้งหมด
และมันเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ด้วย 15 จังหวัดเศรษฐกิจชั้นนำมีส่วนแบ่ง GDP ถึง 70% ในขณะที่อีก 62 จังหวัดที่เหลือได้ไปเพียง 30% จุดนี้จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในโอกาสการสร้างรายได้ และการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ในระยะยาวความเหลื่อมล้ำมีแต่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ระบบยุติธรรมของเราล้มเหลว บิดเบือน และความยุติธรรมกำลังกลายเป็นของหายาก ดังเช่นคำกล่าวสะท้อนที่ว่า “คนรวยทำผิดไม่ติดคุก” หรือ “คุกมีไว้ขังคนจน” เห็นได้จากกรณีศึกษาที่เป็นที่สนใจของสื่อทั่วไปหลายกรณีที่คนมีเงินมีอิทธิพลหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรืออำนาจเพื่อทำให้ตนได้เปรียบในฐานะ โจทก์ หรือ จำเลย ยังไม่รวมถึงปัญหากฎหมายอาญาเฟ้อ (Overcriminalization) ที่เด่นชัดในด้านยาเสพติดจนเกิดปัญหา “คนล้นคุก” ในขณะนี้
สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกกีดกั้น ทุกวันนี้เราถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ อยู่ระดับเดียวกับ พม่า เวียดนาม เขมร และลาว ไม่มีความเป็นธรรมในการเลือกตั้งและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่สามารถคานอำนาจได้
ด้านการทุจริตคอรัปชั่นก็นับว่าแย่และย่ำอยู่กับที่ ดัชนีคอรัปชั่นชี้ว่าเราอยู่อันดับ 104 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ร่วมกับเวียดนาม เกือบสิบปีที่ผ่านมาอันดับเราไม่ได้ดีขึ้นเลย
ความขัดแย้งระหว่าง Generation กำลังไปถึงขั้นครอบครัวแตกแยก เรามีจำนวนครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ยลดลง และ ดัชนีความอยู่ดีมีสุขด้านครอบครัวต่ำลง
ชัดเจนว่า ในด้านสังคมเราก็กำลังลอยคอปริ่มเปร่อยู่ที่ขั้นต่ำสุดของการเป็นสังคมสมัยใหม่เช่นเดียวกับชะตากรรมด้านเศรษฐกิจของเรา
ไฟปัญหาใหม่และฟืนอนาคต
ที่ท่านได้อ่านมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของปัญหาเก่า…
ยังมี “ปัญหาใหม่” จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงกว่าตอนวิกฤติการเงินโลกครั้งก่อน 5 เท่า ซ้ำเติมความเปราะบางเก่าและเร่งความท้าทายใหม่ให้มาถึงเร็วขึ้น
วิกฤตินี้สะท้อนปัญหา “ความเปราะบางเชิงโครงสร้าง” ของประเทศไทยออกมา 2 ประการ
ความเปราะบางเชิงโครงสร้างที่หนึ่ง คือโครงสร้างเศรษฐกิจดั้งเดิม
เราไม่สามารถพึ่งพาการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบที่ผ่านมาได้อีกต่อไปแล้วสะท้อนจากภาคท่องเที่ยวที่ซบเซา รายได้จากภาคนี้หดตัวลงถึง 70% นับตั้งแต่ COVID-19 ระลอกแรก แถมยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ภาคการท่องเที่ยวจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
หากคุณคิดว่าที่การท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 15 ของ GDP เป็นสัดส่วนที่สูง ความเป็นจริงคือมันสูงและหยั่งรากลึงกว่านั้น เพราะภาคการท่องเที่ยวมีความสัมพันธ์เชิงห่วงโซ่การผลิตกับภาคอื่นภายในประเทศ ภาคการค้า (ทั้งค้าส่งและค้าปลีก) และ ภาคคมนาคม ได้รับผลกระทบจากหดตัวของภาคท่องเที่ยวมากที่สุด ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหาร และ สาธารณณูปโภค ป้อนปัจจัยการผลิตสู่ภาคการท่องเที่ยวสูงก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
แม้กระทั่งกระเป๋าสตางค์และบัญชีธนาคารของคนไทยผู้ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเลยแม้แต่นิดเดียวก็ถูกกระทบไปด้วย งานวิจัยที่ผมทำร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์ ในช่วง Wave 2 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในระบบมาก แซงหน้าแม้กระทั่งปัจจัยทางการเงินอื่น ๆ
แปลง่าย ๆ ก็คือคนไทยจ่ายหนี้ไม่ไหวถ้าไม่มีนักท่องเที่ยว และก็ดูเหมือนจะไม่มีวี่แววของการกลับมาของนักท่องเที่ยวในเร็ว ๆ นี้
ความเปราะบางเชิงโครงสร้างที่สอง คือรูปแบบและโครงสร้างของการดำเนินนโยบายและมาตรการของรัฐปัจจุบัน ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการกับวิกฤติที่มีความท้าทายและต้องการตอบสนองอย่างทันท่วงที
วิกฤตินี้ข้องเกี่ยวกับทุกกระทรวง ทุกเขตการปกครอง มีความจำเป็นอย่างมากที่การเดินหมากแก้เกมไวรัสจะต้องเดินให้สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงาน ร่วมกันเดินเพื่อให้เสริมกัน ไม่ใช่แยกกันเดิน เดินแล้วสาวท้าวกลับ หรือเดินซ้อนกัน ขัดกัน จนเกิดความสับสน
โครงสร้างรัฐไทยในวันนี้แบ่งเป็นไซโลแท่ง ๆ ที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างกลับไม่สามารถรวมข้อมูลที่มีคุณภาพเพื่อตัดสินใจให้เด็ดขาดท่วงทันไวรัสร้าย
แม้กระทั่งการเรียกใช้งบประมาณในภาวะเป็นตายแบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัด ถึงขั้นที่เรื่อง ๆ เล็ก ๆ รัฐไทยก็ยังต้องพึ่งพาภาคเอกชนและภาคประชาชน ทั้ง ๆ ที่พวกเราก็มีข้อจำกัดและกำลังประสบความลำบากเหมือนกันหรือมากกว่าด้วยซ้ำไป
ด้วยความเปราะบางเชิงโครงสร้างนี้ทำให้เรากำลังพลาดท่าให้กับสิ่งที่ไม่มีแม้แต่สมอง ขณะที่มองไปข้างหน้าก็จะพบว่ายังมีอีกหลายสนามรบที่ต้องผ่านพ้นไปให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น การมาของปัญญาประดิษฐ์ สงครามการค้าโลก และภาวะโลกร้อน
ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสให้ความเห็นและขับเคลื่อนงานในหลายคณะทำงานทั้งทางการและไม่ทางการในช่วง Wave 1 2 3 ความจริงคือผมซาบซึ้ง แต่ก็เสียดายแรงใจและพลังของข้าราชการ นักวิชาการ นักระบาดวิทยา และคณะทำงานเฉพาะกิจหลายสิบคณะที่สละเวลาเพื่อส่วนรวม เหน็ดเหนื่อยกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของอำนาจการตัดสินใจ ความไม่มีข้อมูล และโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกำเนิดของการตัดสินใจที่ดีต่อส่วนรวมที่สุด
นี่คือทำไมเราจึงกำลังถูกคลอกด้วยทั้งไฟเก่าไฟใหม่ จนไม่เหลือพลังและคนที่จะไปคิดและวางแผนรับมือ “ฟืนปัญหาอนาคต” ที่ยังคงรายล้อมรอวันลุกไหม้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอย่างเช่น การปรับตัวแรงงานไทยรับการมาของ Automation ที่เรามีแรงงานที่อยู่ในภาคการผลิตที่เสี่ยงต่อการถูกแทนที่อยู่ถึง 80% การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยที่ Social Welfare ที่เราไม่พร้อม ด้านประสิทธิภาพของสถาบันรัฐ (State Capacity) เราอยู่อันดับ 76 จาก 169 ประเทศ ตามหลัง เวียดนาม ฟิลิปินส์ และ อินโดนีเซีย การรับมือระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นจนท่วมค่อนหนึ่งของเมืองหลวง หรือการเปลี่ยนขั้วการเมืองโลกที่เราได้แต่เดินเกมรับ
อนาคตของชาติที่เลือนราง
ไม่ว่าจะเป็นไฟปัญหาประเภทใด ชัดเจน ว่ากลิ่นควันไฟที่โชยมา ไม่ใช่การเผาไหม้เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไปข้างหน้า
มันเป็นสัญญาณเตือนว่า ในเวลาแบบนี้ คนที่อยากเอาตัวรอด อยากมีอนาคต เขาไม่เผ่นก็ต้องสู้ ถ้าจะสู้ก็ต้องดับไฟ เพราะถ้าลองเอามือไปอังใกล้ ๆ เปลวเพลิงที่กำลังไหม้อยู่และมองสำรวจเชื้อเพลิงรอบ ๆ ที่รอวันลุกไหม้ จะตรัสรู้ว่าอีกเดี๋ยวเดียวจะไม่เหลืออะไรให้ไหม้
คนวัยสามสิบ สี่สิบ ห้าสิบ หกสิบที่มีตรรกะ มองอนาคตประเทศท่ามกลางไฟปัญหาทั้งหมดนี้แล้วคงหายใจกันไม่ทั่วท้อง
แต่ผมอยากชวนท่านลองมองอนาคตผ่านเลนส์คนรุ่นใหม่หรือเด็กตัวเล็ก ๆ บ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาหนักหนากว่าสิ่งที่เกิดกับพวกเรานัก
ผมเชื่อว่าท่านจะตกใจว่าอนาคตแบบไหนกันที่กำลังรอน้อง ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเราอยู่ระหว่างทางที่พวกเขาจะเจริญเติบโตไปเป็น “อนาคตของชาติ”
ในเดือนหนึ่งจะมีเด็ก ๆ ลืมตาดูโลกขึ้นมาเป็นคนไทยราว 40,000 คน
90% จะโตมาในครอบครัวที่มีเงินฝากเฉลี่ยต่อหัวไม่ถึง 5 พันบาท แปลว่าน่าจะต้องพึ่งพาทุกบาททุกสตางค์ที่พ่อแม่หาได้อย่างยากลำบากท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
กว่าครึ่งของเงินได้ของครอบครัวทุกเดือนจะไปหมดไปกับการจ่ายหนี้ เหลือเล็กน้อย ให้กิน ใช้ และถ้าโชคดี อาจเหลือมากพอให้ไปเป็นค่าเล่าเรียนและรักษาพยาบาล
น่าสมเพชที่จะไม่มีเด็กแม้แต่คนเดียวใน 40,000 คนนี้ที่จะได้รับอากาศที่บริสุทธิ์เป็นจำนวนวันมากพอกับมาตรฐานโลก และหากโชคร้ายเกิดมาในบางจังหวัด วันเดียวที่อากาศดีก็ยังไม่มีให้
ใช่...พวกเขาขอแค่อากาศบริสุทธิ์หายใจ พวกเราให้เขาไม่ได้
คงเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของเด็กรุ่นใหม่ ความหวังของชาติไทย เพราะคุณภาพชีวิตของอนาคตของชาติกำลังถูกบั่นทอนทุกลมหายใจ ในปี ๆ หนึ่ง เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่เกินกว่ามาตรฐานโลกกำหนดกว่ายาวนานกว่า 1 ใน 3 ของปี และหากโชคร้ายเกิดมาในบางจังหวัด อาจได้รับอากาศบริสุทธิ์เพียงไม่กี่วันต่อปีเท่านั้น
เมื่อถึงวัยเรียน เด็ก ๆ อาจเห็นใจพ่อแม่และอยากจะพัฒนาตัวเองเพื่อให้ไม่ลำบาก ก็อาจพบกับข้อเท็จจริงและสถิติที่ไม่เข้าข้างพวกเขา ว่าครอบครัวเขาไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะไปโรงเรียนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานโลก และ 40% ของเด็กนักเรียนไทยเท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
เวลาผ่านไป หากพวกเขาโชคดีพอที่ร่ำเรียนจนจบการศึกษาและก้าวเข้าสู่วัยทำงานเพื่อพิสูจน์ฝีมือและเติบโตไปสานความฝัน ก็อาจพบกับความเป็นจริงอันโหดร้ายของตลาดแรงงาน ว่าเด็กจบใหม่ กว่า 4 แสนคนเสี่ยงตกงานทันทีหลังรับปริญญา อีกทั้งเมื่อมองไปข้างหน้าก็จะพบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงานที่พวกเขาร่ำเรียนมากำลังเริ่มถูกทดแทนไปโดย Automation หรือ ได้ถูกประเทศเพื่อนบ้านแย่งชิงไปแล้ว ส่วนงานใหม่ ๆ ที่โผล่ขึ้นมาก็ไม่ตรงกับสิ่งที่เขาลงทุนเวลาไปสิบสองปีหรือได้แต่บอกกับพวกเขาอย่างห้วน ๆ ว่า “ประสบการณ์น้องไม่พอ”
และเมื่อพวกเขามองไม่เห็นอนาคต ว่าความฝันเขาจะเป็นจริงได้อย่างไรในประเทศนี้ พวกเขาอาจเริ่มออกมาแสดงความเห็น เรียกร้องสิ่งที่ดีกว่า แต่ด้วยโครงสร้างการเมืองการปกครอง พวกเขาอาจถูกปฏิเสธและซ้ำเติมในจิตใจครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าสังคมนี้ไม่มีพื้นที่ให้ความฝันเหล่านั้นถูกเติมเต็มได้
วันหนึ่งเขาอาจมองย้อนกลับมาที่ปี 2021 แล้วพบว่าคนรุ่นเราเลือกที่จะเดินไปข้างหน้าแบบไม่มีทิศทางใด ๆ ไม่มีไฟปัญหาใดถูกดับในยุคพวกเรา ปัญหาที่เคยใหม่ในปี 2021 กลายเป็นปัญหาเก่าหมักหมมในกองเถ้า อย่างที่เป็นกันมาชั่วอายุคน
และเด็ก ๆ พวกนี้จะตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขาเกิดมาในประเทศไทย และอาจเริ่มพากันย้ายไปประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าเริ่มสิ้นหวังในประเทศ สะท้อนจากกระแสกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” ล่าสุดที่มีสมาชิกถึง 1.1 ล้านบัญชีเข้าไปแล้ว
อ่านแล้วคงคุ้นว่า บางส่วนของ “วันนั้น” ได้มาถึงแล้ว
มันเป็นวันที่คนที่ยังเหลืออนาคตบนโลกนี้อีกหลายปีเริ่ม React ให้เห็นว่า บางอย่างกำลังผิดปกติ หนุ่มสาวเริ่มไม่อยากสร้างครอบครัว ไม่อยากมีลูก คนไทยไฟแรงกว่าครึ่งล้านเริ่มตั้งใจศึกษาวิธีย้ายประเทศ
มันเป็นสัญญาณว่า วันนี้ “Future Expectation” ของชาติเรามันถึงขั้นต่ำสุดแล้ว
ทางหนีไฟกับถังดับเพลิง
วินาทีนี้เรามีทางเลือกว่าจะหาทางหนีไฟหรือจะหาถังดับเพลิง
ก่อนจะตัดสินใจเลือกทางหนีไฟกันหมด ผมอยากให้คุณรีวิวสิ่งที่ผ่านมา คุณจะพบว่าการที่บ้านของพวกเรากำลังไหม้จนจะพัง เรื่องไม่เป็นเรื่องง่าย ๆ กำลังกัดกินเสาเอกเสาโท ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเหตุใด? มันเป็นสภาวะที่น่าเสียดาย และไม่ควรเกิดขึ้นเลยกับประเทศที่มีทรัพยากรและบุญเก่ามากพออย่างประเทศของพวกเรา
ทุกปัญหาที่ผมเล่าให้ฟังวันนี้ เชื่อว่าคุณต้องเคยได้ลองหารือกับเพื่อนร่วมงาน ผู้เชี่ยวชาญ และทีมทำงานในราชการไทยจากหลากหลายหน่วยงานกันมาบ้างแล้ว และเป็นไปได้มาก ๆ ว่าคุณเคยพบว่าสำหรับทุกปัญหา ทุกความท้าทาย คุณมี “คนในใจ” หรือ “ทางออกในใจ” ที่เตะตาคุณเป็นพิเศษ และคุณอยากเห็นมันถูกลองนำไปใช้จริง คุณอยากให้คนพวกนี้ได้มีโอกาสโชว์ของ และมีเจ้าหน้าที่รัฐ เปิดใจ รับไม้ต่อไปพัฒนาสังคม
ผมเชื่อว่าต้นตอของแทบทุกปัญหาที่ขัดขวางอนาคตของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้เกิดขึ้นจากสองสาเหตุหลักต่อไปนี้
หนึ่ง คือ ความล้มเหลวในการใช้และจัดสรรทรัพยากรในประเทศให้มีประสิทธิภาพและเสมอภาค ประเทศเรามีคนเก่ง เรามีทุนฉลาด เรามีเทคโนโลยีระดับโลกให้เลือกใช้ แต่เราสอบตกในการจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม
สอง คือ การคิดและทำนโยบายถูกจำกัดอยู่ในห้องปิดที่ตัดขาดจากทรัพยากรและความเห็นที่จำเป็นต่อการพัฒนา
สองสาเหตุนี้ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงได้เห็นนโยบายแปลก ๆ การบริการที่ไม่ทั่วถึง และความล้มเหลวของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างดูเหมือนว่าด้วยบุญเก่าของประเทศไทย เราไม่น่าตกอยู่ในจุดต่ำสุดนี้ได้เลย
มันตอบคำถามว่าทำไมเรามีคนเก่งระดับโลกแต่เราได้แต่เล่นเดี่ยว เล่นเป็นทีมแล้วแพ้? ทำไมต้องรอให้พวกเขาเปลี่ยนสัญชาติหรือย้ายประเทศไปก่อน “คนเคยไทย” เหล่านี้ถึงจะเริ่มฉายแสงบนเวทีโลกได้?
ทั้งหมดนี้แปลว่าวันนี้เราต้องฉีกสูตรการออกและทำนโยบายแบบเดิมทิ้งแล้วร่วมกันเสาะหาวิถีใหม่ในการขับเคลื่อนอนาคต
ไม่เพียงแต่เพื่อให้รอดพ้นไฟปัญหา แต่ยังต้องดับไฟ ซ่อมแซม และต่อเติมบ้านใหม่ของพวกเราให้พร้อมรับลมพายุแห่งความท้าทายที่ยังมาไม่ถึงด้วย
และในวันที่เราทำสำเร็จ พวกเราจะมองย้อนกลับมาแล้วภูมิใจที่ครั้งหนึ่งเราได้ลองเปลี่ยนทิศทางการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาประเทศ และร่วมบูรณาการสร้างบ้านหลังใหม่ด้วยวิธีใหม่กัน จนถึงแม้ว่าลูกหลานของพวกเราจะมีทางเลือกเปลี่ยนไปเป็นสัญชาติอะไรก็ได้ในโลก พวกเขาก็ยังยืนยันที่จะเลือกสานฝันและสร้างอนาคตของพวกเขาในแผ่นดินไทยผืนนี้
ในบ้านที่กำลังไฟไหม้ หลายคนจะเลือกทางหนีไฟและพวกเขาไม่ผิดเลย ก็บ้านมันจะพัง
แต่ผมชวนกันให้อ่านต่ออีกนิด เพราะผมเชื่อว่าการได้มาซึ่งถังดับเพลิง หัวจ่ายน้ำ เครื่องไม้เครื่องมือที่ดีและจำนวนมากพอที่จะเบนเข็มอนาคตได้นั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการในการได้มาซึ่งนโยบายที่ทันสมัย และ บูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และที่สำคัญที่สุด ผมและทีมงาน รวมถึงเครือข่ายภาคีของพวกเราเคยเห็น “สูตรใหม่” ในการใช้วัตถุดิบเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนอนาคต ที่ถูกพิสูจน์มานักต่อนักแล้ว ทั้งในบางมุมเล็ก ๆ ของบ้านเราและในบ้านคนอื่น หน้าที่ของเราคือขยายแนวทางความสำเร็จเหล่านี้ให้เป็นวงกว้างต่อไป
ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต (Future Policy Trinity)
เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปในโลก VUCA+COVID-19 ที่นโยบายที่ดีและตอบโจทย์ครอบคลุมทุกคนอย่างทั่วถึงจะสามารถออกมาจากกลุ่มคนเพียงหยิบมือหรือจากการม้วนให้ทุกอย่างขึ้นไปเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ของผู้นำสูงสุด ไม่ว่าจะในระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด หรือ ประเทศ
แม้ภาครัฐจะขยายขนาดไปอย่างไรก็ไม่มีวันมีศักยภาพเทียบเท่ากับศักยภาพของคนรวมกันทั้งประเทศ รวมถึงยังมีคนไทยในต่างแดนจำนวนไม่น้อยที่มีใจช่วยเสนอหนทางดับเพลิงอยู่ห่าง ๆ
พวกเราเชื่อว่า อนาคตเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
วันนี้ต้องเริ่มสลายกรอบบทบาทหน้าที่ของ “ผู้คิดผู้ทำ” นโยบายกันบ้าง
ต้องเปลี่ยนจาก “คิดให้-ทำให้” เป็น “ร่วมคิด-ร่วมสร้าง” ภายใต้กรอบความคิดที่เราเรียกมันว่า “ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต” สามประการ
ประการที่ 1: เปิดและเชื่อมกระบวนการคิดและทำนโยบายกับโลกภายนอก
ปัญหาประเทศนับวันยิ่ง “เปิดกว้าง” “กระจาย” และ “ลุกลามเร็ว” แต่การออกแบบและดำเนินนโยบายในปัจจุบันของเรากลับ “ปิด-ลับ” “แคบ” และ “ช้า”
วัฏจักรชีวิตของนโยบาย (Policy Life-cycle) ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและปิดกั้นเกินไป หากถามคนทั่วไป น้อยนักที่จะทราบว่าแต่ละมาตรการ แต่ละนโยบาย แต่ละข้อกฎหมาย กว่าจะออกมาได้อย่างที่เห็นมันมีขั้นตอนอย่างไร ใครเป็นผู้ตัดสินใจ และพวกเขาใช้อะไรในการออกแบบ?
จึงไม่แปลกที่นโยบายในการพัฒนาประเทศหรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ผล ไม่ครอบคลุม ไม่ทันท่วงที หรือแม้กระทั่งอาจทำให้ปัญหาแย่ลงกว่าไม่ทำอะไรเลย
ดังนั้น เพื่อให้นโยบายออกมาตรงจุด สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ “เปิดล็อก” ห้องที่ปกติเอาไว้คิดและทำนโยบาย แล้วเชื่อมต่อมันเข้ากับประชาชน ท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทุกข้อต่อของห่วงโซ่นโยบาย (Policy Chain) เพื่อให้ทุกฝ่ายกระจ่างถึงปัญหา ข้อจำกัด และข้อเสนอแนะจากมุมมองของกันและกัน
ประการที่ 2: กระจายอำนาจในการพัฒนาอนาคตประเทศไทยอย่างมีระบบ
เมื่อเปิดล๊อคแล้วก็ต้องกระจายอำนาจในการพัฒนาอนาคตประเทศไปสู่ “โหนด” ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งอำนาจการคลัง อำนาจในการเข้าถึงข้อมูล และอำนาจในการออกแบบนโยบายบางส่วนออกมาจากส่วนกลาง ทั้งภายในภาครัฐเองและภายนอก จากบนสู่ล่าง จากผู้ใหญ่สู่คนรุ่นใหม่ จากระดับประเทศสู่ระดับท้องถิ่น
เปิดพื้นที่ให้เอกชน องค์กร และบุคคลที่มีไฟ มีของ มาร่วมมีบทบาทเพื่อให้เกิดการดูแลความเป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคตอย่างทั่วถึงทั้งในเมืองและชนบท ท้องถิ่นจะได้มีอิสระในการบริหารตัวเอง เริ่มมีระบบการคลังของตัวเอง จะเริ่มจาก Participatory Budgeting เล็กน้อยก็ได้ แล้วมุ่งสู่การเก็บภาษีเองทางตรงโดยท้องถิ่น
และต้องเป็นการกระจายอำนาจอย่างมีระบบ มิใช่กระจายในเชิงขอให้ช่วยเหลือเฉพาะกิจเป็นครั้งคราวแล้วสุดท้ายก่อนออกนโยบายอำนาจกลับไปกระจุกที่คอขวดเหมือนเดิม ดีที่สุดคือควรเป็นการกระจายอำนาจแบบถาวรที่มีช่องทางร่วมออกแบบนโยบายอย่างเป็นทางการ โปร่งใสอย่างสุดขั้ว มีเหตุผล มีหลักฐาน และมีส่วนร่วม
ประการที่ 3: คิด-ทำ นโยบายอย่าง “เป็นวิทยาศาสตร์” มากขึ้น
ผมเฝ้าฝันถึงวันที่นโยบายวัดผลได้และเราค้นพบวิธีดำเนินนโยบายที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด และในวันนั้น เรื่องบุคคล เรื่องขั้วความคิด จะไม่เข้ามาปนกับเรื่องนโยบาย ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนและควรถูกแยกแยะออกจากเรื่องอุดมการณ์ให้ชัดเจน
นอกจากการเชื่อมต่อและการกระจายอำนาจอย่างมีระบบแล้ว การ “ร่วมคิด-ร่วมสร้าง” จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการพัฒนาอย่าง “เป็นวิทยาศาสตร์” ไม่ว่าจะเป็น เข็มทิศ ปรอท ตราชั่ง มิเช่นนั้น เราจะไม่มีทางทราบเลยว่าเรากำลังพัฒนาขึ้น พัฒนาลง หรือแค่โชคดีมีลมส่งท้าย
เราต้องเปลี่ยนแนวคิดกันใหม่ เลิก Candle-driven แล้วหันมาอิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลและการวัดผลนโยบายอย่างมีมาตรฐาน การทำการทดลองพฤติกรรมศาสตร์ การดำเนินนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based policymaking) หรือการใช้เทคนิคห้องปฏิบัติการอนาคต (Foresight Lab) เพื่อรังสรรค์แนวทางและนวัตกรรมนโยบายใหม่ ๆ ให้มีประสิทธิผล คุ้มเงินภาษี และคุ้มเวลาที่เสียไปกว่าเดิม
ข่าวดีต่อที่ 1: ว่าที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่
คุณพระช่วย...อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว บทความนี้ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง...
...และมีถึง 3 ข่าวดีด้วยกัน!
ข่าวดีแรก คือ ทีมงาน ThailandFuture และคณะที่ปรึกษาได้ทำการสัมภาษณ์และวิเคราะห์เบื้องต้นกับภาคเอกชนและประชาชน ออกมาเป็นเส้นทางตัวอย่างในการประกอบวัตถุดิบที่เหลืออยู่ให้ไปเกิดเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่คาดว่าจะสามารถตอบโจทย์การพัฒนายั่งยืนระยะยาว คลี่คลายปัญหาความไม่เสมอภาค และพลิกวิกฤติ COVID-19 ให้เป็นโอกาสไปได้พร้อม ๆ กัน ภายใต้ 3 หลักการต่อไปนี้
หลักการ 1: ทำน้อยให้ได้มาก
เวลาของประเทศไทยเหลือน้อย เราต้องส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจที่มี “Multiplier” หรือ “Spillover” มากกว่าปกติ เช่น การผลักดันอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบบวกกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นในวงกว้าง และ เชื่อมมันเข้ากับการทำธุรกิจเป็นวงกว้างให้เร็วที่สุด การจัดซื้อ ออกบูธ หรือให้ทุนสนับสนุนไม่ถือเป็นความสำเร็จ ความสำเร็จคือการที่ธุรกิจเล็กใหญ่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนตัวเองได้จริง ๆ แม้ว่าเราดันสิ่งเหล่านี้ได้เพียง 0.5% ต่อปีแต่มันจะกลายเป็นทิศทางใหม่ทันทีเมื่อเวลาผ่านไป
หลักการ 2: กระจายโอกาสแห่งความเจริญ
ไม่ว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ดีเพียงใด ถ้าเรารู้ ๆ อยู่ว่ากลไกในการกระจายรายได้หรือมาตรการลดความเหลื่อมล้ำจะยังด้อยประสิทธิภาพไปเรื่อย ๆ เศรษฐกิจไทยก็จะไม่มีวันเสมอภาค จะดีกว่าหรือไม่หากเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ถูกบังคับให้มันต้องกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปในตัว ดึงพลังความคิดสร้างสรรค์จากท้องถิ่น และถือโอกาสเยียวยาปากท้องช่วง COVID-19 ไปในตัว?
หลักการ 3: มองยาวได้แต่ต้องคล่องตัว
เราอยู่ในโลกที่ Paradigm Shift เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่มีธุรกิจอะไรจีรัง ดังนั้นแม้ต้องมียุทธศาสตร์บ้าง แต่เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ต้องยืดหยุ่นและต้องออกดอกออกผลได้ทุกระยะ สั้นในระดับเดือน กลางในระดับปี ยาวในระดับห้าปี และการพัฒนาจำเป็นต้องแบ่งเป็น module เผื่ออนาคตที่ไม่แน่นอน โครงการเศรษฐกิจจะได้ไม่เหมือนตอม่อทางด่วนร้างที่เคยดูดีแต่ดวงกุดเพราะสถานการณ์เปลี่ยน
เครื่องยนต์ที่ 1: โครงข่ายเศรษฐกิจท้องถิ่น (Networked Local Economies)
เครื่องยนต์นี้มีเป้าหมายเพื่อ
1) ช่วยกระตุ้นการเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างท้องที่และการแจ้งเกิดของนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ จากแต่ละท้องถิ่น
2) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นและเกิดการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจที่แฟร์ขึ้น
ถือเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากภาวะคนไทยกลับภูมิลำเนาเดิมและสนับสนุนให้ใช้งาน E-commerce Platform เพื่อเข้าให้ถึงตลาดโดยไม่ต้องไปตลาด (ที่ไม่มีคนเดิน) โครงข่ายแบบนี้จะทำให้พวกเราแสดงไอเดียใหม่ ๆ แข่งขัน แลกเปลี่ยนคุณค่า และถูกค้นพบโดยลูกค้าและทุน โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาประกอบกิจการในใหญ่หรือถูกดูดกลืนโดยบริษัทใหญ่แล้วจบลงที่การรวยกระจุกแบบเดิม
Economies of Scale เป็นเรื่องจริง แต่ “รวยกระจุก-จนกระจาย” ก็จริงไม่แพ้กัน
ดังนั้น คำว่า “Networked” ในเครื่องยนต์เครื่องนี้จึงสำคัญ
เราต้องทำให้การค้าที่ทุกวันนี้ยังออฟไลน์มาก ขึ้นมาบนเมฆ
ท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลกัน ไม่เคยคุยกัน แต่มี Synergies ในการผลิตร่วมกัน ก็ควรจะได้เชื่อมต่อกันและค้าขายกัน สินค้าของดีไม่ควรเป็นความลับ มันควรเป็นความภาคภูมิใจของท้องที่ที่ให้กำเนิดมันจนเลื่องชื่อและนำมาซึ่งรายได้และภาษีต่อท้องที่นั้น ในช่วง Wave 1-2 กองทุนหมู่บ้านมีลักษณะการทำงานในกรอบความคิดนี้ จะดีกว่าหรือไม่หากเราช่วยกันขยายผลออกไปให้กว้างขึ้น?
สองสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับต้น ๆ ในการประกอบเครื่องยนต์นี้คือ
หนึ่ง สนับสนุนและอุดหนุนการเข้าถึงบริการการค้าเชิง Platform ให้ครบ Ecosystem ตั้งแต่การผลิต การวางคลังสินค้า ไปจนถึงการขนส่ง ให้เกิดต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับผู้ขายและเกิดความสะดวกสบายสูงสุดสำหรับผู้ซื้อ ช่วงวิกฤติ COVID-19 ทำให้เราเห็นแล้วว่าการซื้อขายสินค้า/บริการ สะดวกขึ้นได้มากเพียงใดเมื่อมีผู้ให้บริการเหล่านี้ช่วยให้ผู้ซื้อผู้ขายพบเจอกันได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น จะดีขึ้นอีกแค่ไหนหากต้นทุนและแรงเสียดทานในการซื้อขายวิถีใหม่ต่ำลงได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ยังเข้าไม่ถึงแพลตฟอร์มเหล่านี้ รวมถึงแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จะทำให้พวกเขายืนบนขาตนเองได้อย่างมั่นใจขึ้นในโลกปกติใหม่
สอง ปลดล็อกตลาดการเงินไทยให้ผู้ผลิตรายย่อยที่มีไอเดียใหม่ ๆ สามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ถูกลง นอกจากจะช่วยเหลือด้วยมาตรการซอฟต์โลนหรือช่วยเหลือผู้มีภาระหนี้แล้ว สำคัญที่สุดคือต้องทำให้เกิด “topline” หรือรายได้ใหม่ ๆ ในเวลานี้ไม่มีใครผิดชำระเพราะอยากผิดชำระ สิ่งที่สำคัญคือหากมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการลุกขึ้นมายืนอีกครั้ง ต้องมีฟูกมีเบาะยันให้เขายืนขึ้นได้ เพื่อให้พวกเขามีโอกาสแปลงความคิดเหล่านี้ไปเป็นสินค้าและบริการใหม่ได้จริง สร้างมูลค่าเพิ่ม และผลิตภาพมวลรวมให้กับประเทศได้อีกครั้ง การดูแลความเสี่ยงในจุดนี้ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจาก FinTech จิ๋วแต่แจ๋วจำนวนมากในประเทศไทยถือว่าไปค่อนข้างไกลแล้ว
ที่ผ่านมา ThailandFuture ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ตลอดจนเป็นตัวกลางบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ และภาคส่วนในพื้นที่ท้อนถิ่นต่าง ๆ ดังเช่น การเข้าไปทำงานร่วมกับโครงการรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเราเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการสรุปและประเมินผลให้มีข้อเสนอแนะในการนำไปปรับปรุงและพัฒนา รวมไปถึงทำหน้าที่ถอดบทเรียนให้ผลงานที่ได้รับรางวัลสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่อไป
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ThailandFuture ยังมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการทำแผนด้วยเครื่องมือการมองอนาคตและห้องปฏิบัติการทางนโยบายในประเด็นเศรษฐกิจฐานราก โดยมีผู้เข้าร่วมขับเคลื่อนทั้งผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วิสาหกิจท้องถิ่นและชุมชนกว่าหลายสิบแห่ง ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแนวคิดชื่อ “ชุมชนท่องเที่ยวการเกษตรสมัยใหม่” ที่มุ่งไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนต่อไป
เครื่องยนต์ที่ 2: เศรษฐกิจสบาย ๆ (Sabai^2 Economy)
หมายถึง เครื่องยนต์ที่ทำการรีแพคเกจภาคการผลิตสินค้า/บริการ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความ “สบายกาย สบายใจ” หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “สบาย ๆ” ให้เป็นธีมเดียวกันทั้งประเทศ ไม่กระจัดกระจาย และอัพเกรดคุณค่าของแบรนด์ประเทศไทย
เครื่องยนต์นี้มีความเป็นไปได้ในการสำเร็จสูงเนื่องจากคนไทยรักสบายไม่แพ้ชาติใดในโลกและมีข้อได้เปรียบหลายประการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้แก่
หนึ่ง มีความต้องการสินค้าและบริการดังกล่าวทั้งในและนอกประเทศรองรับ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เยอรมัน ฯลฯ ก็มีคนชรามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน อีกทั้งวิกฤติCOVIDก็ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาดูแลสุขภาพกายสุขภาพจิตกันมากขึ้น
สอง บุคลากรและระบบของเรามีความพร้อมในเชิงคุณภาพและในราคาที่แข่งขันได้ แพทย์ไทยและระบบดูแลสุขภาพเราอยู่อันดับต้น ๆ ของโลก และที่สำคัญคือการบริการของเราดีสะดวกและเป็นแหล่ง medical tourism ที่สำคัญของโลกอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
สาม เป็นบุญของประเทศไทยที่เรามีวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเฟรมสินค้าภายใต้กรอบเศรษฐกิจสบาย ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา น้ำตก ท้องนา นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว เรายังสามารถระบายให้ชัดว่าไทยหลังCOVID-19 จะเป็นจุดหมายของการมาชะล้างความเครียด สัมผัสเส้นทางของธรรมชาติ และสามารถมาปักหลักทำงาน remote หรือแม้กระทั่งมาเกษียณอายุในดินแดนที่ดีต่อกายดีต่อใจได้ด้วย
สิ่งที่เราต้องรีบทำในระหว่างรอสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีน คือการจัดให้สินค้าและบริการเข้ากรอบแบรนด์เศรษฐกิจสบาย ๆ และควรลงทุนแบบเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อบูรณาการสถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน และธรรมชาติ ให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวแผนใหม่ ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชนบท หรือ พื้นที่ห่างไกล ที่เป็นปลายทางสินค้าบริการสุขภาพ เพราะ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มักจะต้องการอยู่ใกล้ธรรมชาติ หรือพื้นที่สงบ ห่างไกลจากความวุ่นวายในเมือง แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการความปลอดภัยและบริการพื้นฐาน
“เศรษฐกิจสบาย ๆ” คือการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เราต้องการระจายความเจริญไปสู่ชนบท สร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ให้ย้ายไปตามจุดหมายปลายทางเหล่านี้ ทำให้คนไทยในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพไปด้วยในตัว
เครื่องยนต์ที่ 3: Digital Logistics
การค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง วิถีการค้าใหม่สุดท้ายจะวัดกันที่คุณภาพ ประสิทธิภาพ และความสร้างสรรค์ของระบบโลจิสติกส์ ในโลกที่ E-commerce เป็นบรรทัดฐานใหม่ หากคู่แข่งคุณส่งสินค้าได้เร็วกว่า ถูกกว่า โปร่งใสกว่า ไม่ว่าจะจากมุมไหนของโลก แปลว่าคุณแพ้แล้ว
ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ เราอยู่ในตําแหน่งที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคและมีชายฝั่งทะเลค่อนข้างยาว อีกทั้งเรามีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอันมหาศาลที่ยังนำหน้าคู่แข่งอย่างเวียดนาม ทำให้เรามีพื้นฐานดีพอที่จะเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) ไม่ว่าจะผลิตเองหรือจะเป็นทางผ่าน
แต่สิ่งที่เราขาดคือระบบนิเวศดิจิทัลที่จะต่อยอด “ทุนเดิม” อันล้ำค่าเหล่านี้ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลจิสติกส์ดิจิทัล ที่จะเปลี่ยนโลจิสติกส์ไทย จากที่เคยเป็นภาระของการค้าขาย ให้นอกจากจะกลายเป็นแรงเสริมแล้ว ยังกลายเป็นสะพานสู่โอกาสทางการค้าใหม่ ๆ และติดอาวุธให้กับเครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย
ระบบโลจิสติกส์ที่ “ฉลาด” คือ ระบบที่ใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เชิงข้อมูลได้จนเกิดประสิทธิภาพในการขนส่งสูงสุด ตั้งแต่ต้นน้ำ First-mile จนถึงหน้าบ้าน Last-mile โดยทำการ Synchronize ห่วงโซ่อุปทานได้ในระดับประเทศ ยานพาหนะที่วิ่งอยู่ จะต้องเต็มคัน แบ่งส่ง และอยู่บนเส้นที่ควรอยู่ที่สุด จึงจะสามารถลดต้นทุนได้จริง
ประโยชน์ของเครื่องยนต์นี้มี 3 ต่อด้วยกัน
ต่อแรก คือการลดต้นทุนของการขนส่งทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 13%-15% ของ GDP ใช่ครับ แค่เคลื่อนย้ายสินค้าก็มีต้นทุนเกือบเท่าคุณค่าทั้งหมดที่ได้จากการท่องเที่ยวแล้ว การปลดภาระตรงนี้ออกได้แม้เพียง 1% จะทำให้เหลือเงินไปลงทุนในกิจกรรมอื่นที่อาจมีผลิตผลกว่าได้อีกมหาศาล งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ชัดว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างศักยภาพของระบบโลจิสติกส์และ GDP ประเทศโดยรวม เนื่องจากโลจิสติกส์คือเส้นเลือดที่ส่งต่อผลผลิตทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการบริโภคของผู้คนที่นับวันจะพึ่งพาการใช้จ่ายบน E-commerce มากขึ้น มันคือการปลดภาระทางเศรษฐกิจอันมหาศาลเพื่อคนทั้งประเทศ และจุดนี้ไม่ได้ฝันกลางวัน
จากประสบการณ์ที่ผมใช้ AI และ Operations Research เพื่อคำนวณแผนการขนส่งกับ Shippers รายใหญ่ ระบบสามารถลดต้นทุนในการขนส่งได้อย่างน้อย 20% เพียงแค่จาก Last-mile Delivery อย่างเดียว ยังไม่รวม First-mile, Middle-mile หรือการทำ Truck และ Warehouse Sharing ด้วยซ้ำไป คิดแบบ Conservative คือหากเราลดได้ทุกขา เรามีโอกาสลดต้นทุนได้ทั้งประเทศเกิน 10% แน่นอน
ต่อที่สอง คือ ชูประสิทธิภาพของระบบให้เป็นความสามารถในการแข่งขันในการ Reroute การค้าระหว่างประเทศ ควรถือโอกาสที่ห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังปรับตัวให้เป็นประโยชน์ ถึงเราดึงดูดฐานการผลิตทั้งหมดให้มาผ่านประเทศไทยไม่ได้ อย่างน้อยขอให้สินค้ามาผ่านหรือมาฝากใน Warehouse ภายในประเทศได้บ้าง ในขณะที่ค่าแรงไทยอาจปรับขึ้นตามการพัฒนา แต่ต้นทุนในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ลดลงและบริการที่ดีขึ้นจะช่วยให้เราเป็นเส้นทางที่สู้กับคู่แข่งอย่างสูสีขึ้น อีกทั้งการที่สินค้าเคลื่อนที่ผ่านเรา เราสามารถเก็บค่าบริการและภาษีจากบริการต่าง ๆ ที่จะผุดเกิดขึ้นตามห่วงโซ่อุปทานนี้ได้ด้วย
ต่อที่สาม คือ การรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยอย่างละเอียด จากทุก Node บนห่วงโซ่เพื่อนำมาสร้างเป็นกลยุทธ์ในการสนับสนุนภาคการผลิตและการส่งออกอย่างมียุทธศาสตร์ ประเทศไทยขาดเอกราชเชิงข้อมูล ตลาด E-commerce และ Messenging Service ถูกต่างชาติครอบครอง หากเรามีระบบการค้าที่ใหญ่พอ ในเมื่อของผ่านเรามากขึ้น เราจะทราบถึงอุปสงค์ของแต่ละประเทศในแต่ละห้วงเวลาได้ในระดับแทบ Real-time นี่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาว เพื่อช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถเปิดเกมรุกไปดินแดนอื่นได้อย่างทันท่วงทีและตอบโจทย์ผู้บริโภคแม้ดูเหมือนว่าเราจะไม่เคยค้าขายกับเขามาก่อน
ในการนี้ ThailandFuture จะร่วมผลักดันพร้อมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่ายกลุ่มเอกชนที่เป็นผู้เล่นสำคัญในวงจรการค้าและห่วงโซ่อุปทานอย่างบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นต้น
เครื่องยนต์ที่ 4: Creative Economy
เครื่องยนต์ตัวสุดท้าย “Creative Economy” เป็นเครื่องยนต์ที่ชูโรงด้านความคิดสร้างสรรค์ ที่เรียกได้ว่าเป็น “สูตรสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจ” ในหลายประเทศ เป็นเครื่องยนต์ที่นอกจากจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังสามารถส่งเสริมและขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย
ประเทศไทยเรามีพื้นฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่แข็งแรง และมีความพร้อมในการผลักดัน เรามีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ทำมูลค่าการส่งออกมากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี
แฟชั่นแบรนด์ไทยจำนวนไม่น้อยมีความโด่งดังในต่างประเทศถูกใจเหล่าดาราฮอลลีวูด มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 3.8 แสนล้านบาท แม้กระทั่งสินค้าของฝากจากไทยอย่างกระเป๋าผ้าชื่อดังที่ชาวจีนที่มาเที่ยวประเทศไทยต้องต่อคิวซื้อสินค้ากันยาวเหยียด เพราะมีดีไซน์และราคาที่โดนใจ ปัจจุบันกระเป๋ายี่ห้อดังได้ขยายสาขาออกไปยังต่างประเทศแล้ว
ยิ่งในยุควิกฤติ COVID-19 อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยิ่งทวีความสำคัญ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์โลกที่มุ่งไปสู่การผลิตที่ต้องใช้ไอเดียและนวัตกรรมมาก เปิดโอกาสให้เราสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้หากคนของเราพร้อม ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายผลักดันอย่างจริงจังและตรงจุด
เรามองว่าควรวางกลยุทธ์ที่ให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็น “เส้นทางแห่งความสร้างสรรค์” ที่คอยสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นแต้มต่อกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กว้างที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งบทบาทของนโยบายควรสนับสนุนใน 3 ประเด็นหลักต่อไปนี้
หนึ่ง เน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ “ทำแล้วคุ้มค่า” โฟกัสอุตสาหกรรมที่เรามีความถนัด และมี Value Chain ยาวก่อน โดยเริ่มจากอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมการออกแบบ และอุตสาหกรรมภาพยนต์ สามอุตสาหกรรมนี้เป็นสาขาที่สร้างรายได้รวมกว่าร้อยละ 9 ของ GDP ประเทศ และยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจกว่า 8.4 แสนล้านบาทต่อปี
สอง สนับสนุนแนวคิด “One Source Multi Use ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า” ให้ลองนึกถึงการบุกตลาดของเกาหลีใต้ จากแดจังกึมสู่ K-POP พร้อมพ่วงแบรนด์ของเขากับสินค้าอื่นๆ เช่น อาหาร รถยนต์ และอื่น ๆ เป็นต้น เชื่อมโยงผู้ผลิตในอุตสากรรมนี้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และข้ามอุตสาหกรรม เพื่อให้การผลิตมีการแบ่งปันนวัตกรรม ศิลปะ และไอเดียซึ่งกันและกัน
สาม สร้าง “พื้นที่” สำหรับการสร้างและการกระจายสินค้าสร้างสรรค์ หัวใจหลักของสินค้าสร้างสรรค์คือ “พื้นที่” เพื่อสร้างสรรค์และสื่อสารชิ้นงานออกไป ฉะนั้น การสร้างพื้นที่มีสำคัญมาก และควรเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ภาครัฐต้องสนับสนุน ยกตัวอย่าง การสร้าง Creative Community ทั้งในรูปแบบออนไลน์ เป็นดิจิทัล แพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ เกิดเป็นย่านสร้างสรรค์ (Creative District) สร้าง Synergy จากการนำกลุ่มคนสร้างสรรค์มารวมกัน พร้อมอำนายความสะดวกสร้างพื้นที่สำหรับการขายไอเดีย การเข้าถึงทุน และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม
ThailandFuture มุ่งมั่นผลักดัน Movement ทั้ง 3 ประการให้เกิดขึ้นผ่านเครือข่าย Partner ของเรา ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ OpenDurian Edtech Startup ชั้นนำของไทย ในการสร้าง Ecosystem เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างครบวงจร
ข่าวดีต่อที่ 2: ไตรลักษณ์นโยบายอนาคตเป็นไปได้
รูปแบบการคิดการทำสไตล์ “ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต” ที่ผมได้เสนอไป เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และมีให้เห็นแล้วทั้งในประเทศที่พัฒนากว่าเรา (ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ แม้กระทั่งจีน) ในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าเรา (เวียดนาม อินโดนีเซีย เคนย่า ฯลฯ) และในมุมเล็ก ๆ ของประเทศไทยเป็นครั้งคราว
ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบอะไรหรือมีต้นทุน Baggage หนักแค่ไหน มันทำได้ครับ และถ้าเราเปลี่ยนระบบทางการได้ช้า เราก็ต้องเลือกที่จะทำเองคู่ขนานกันไปก่อน หรือทำจากบางจุดที่ทำได้ก่อน
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทีมงานและผู้บริหารท่านอื่น ๆ ใน ThailandFuture ได้มีโอกาสสัมผัสเห็นแสงสว่างที่ปลายทางแล้วจากการนำ “ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต” ที่ไปใช้จริงทั้งในและนอกประเทศไทย
การทำวิจัยนโยบายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและที่เขตการศึกษาในรัฐมินเนโซต้า สหรัฐอเมริกา สอนให้ผมเห็นคุณค่าของความร่วมมือระหว่างเอกชน รัฐบาลท้องถิ่น และนักวิชาการผู้ประมวล Big Data มันทำให้ผมเชื่อว่านโยบายที่ดีกว่าควรจะมาจาก การเชื่อมต่อ การกระจายอำนาจ และการอัพเกรดการคิดและทำนโยบายให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น สามสิ่งนี้ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาท้าทายอย่างฝุ่นควัน การใช้พลังงาน และการศึกษาได้ภายในไม่กี่เดือน
ในประเทศไทยเองผมเห็นความร่วมมือแบบนี้แล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการเข้าถึงสินเชื่อทางเลือก (Alternative Credit) สำหรับผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรือมีปัญหา Thin-file การหาหนทางแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากการวิเคราะห์ Big Data แล้วลงพื้นที่เพื่อทำการทดลอง การลดต้นทุนโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานอันยาวเหยียดที่กระทบการค้าทั้งประเทศ และ การใช้ข้อมูล mobility และความเปราะบางเชิงพื้นที่เพื่อ Optimize การทำงานภาคสนามของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคและรักษาชีวิตคนไทย
ยังไม่รวม initiatives อื่น ๆ อีกมากมายที่ ThailandFuture กำลังขับเคลื่อน ทีละจุด ทีละจุดไป
ยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งถือเป็นปัญหาทุนมนุษย์ระดับชาติที่คร่าชีวิตคนไทยโดยเฉลี่ย 40 คนต่อวันมาโดยตลอด ThailandFuture ร่วมมือกับภาคีที่มีประสบการณ์ในการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ อาทิ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTic) บริษัทสยามเมทริกซ์ คอนซัลติ้ง จำกัด และแผนงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรการอนามัยโลกกับรัฐบาลไทย เพื่อตกผลึกคู่มือการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ตั้งแต่ต้นน้ำในการแก้ไขจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ซ้ำซาก จนถึงปลายน้ำในการยกระดับบริการ การใช้สิทธิ์ การเยียวยาผู้พิการ และการประเมินต้นทุนต่อสังคม รวมถึงขยายผลการวัดผลและการทดลองเชิงพื้นที่ เช่น การตั้งด่านตรวจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทดลองเชิงพฤติกรรมศาสตร์กับป้ายจราจร และเสนอช่องทางในการคมนาคมยามค่ำคืนที่เป็นช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย เป็นต้น
ล่าสุด ThailandFuture ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนานวัตกรรมนโยบายเมืองปลอดภัย (Safe City) โดยรวบรวมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมพัฒนานโยบายร่วมกันใน Policy Lab เป็นระยะเวลา 6 เดือน ผ่านการมองภาพอนาคต การใช้การคิดเชิงออกแบบ และการทำงานแบบสตาร์ทอัพ โดยจุดสำคัญคือ การได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความเข้าใจที่ลึกซึ้งของประชาชนที่มีต่อเมืองที่ปลอดภัย และได้ร่วมกันพัฒนาต้นแบบนโยบายและบริการเพื่อเมืองที่ปลอดภัย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้เริ่มพัฒนาและทดลองในหลาย ๆ ต้นแบบนโยบายที่ได้จาก Policy Lab นี้ เช่น การพัฒนาระบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ การพัฒนาความเชื่อใจของประชาชนกับตำรวจผ่านนโยบายตำรวจบ้านหรือตำรวจประจำชุมชน การใช้เทคโนโลยี 4.0 มาใช้ในงานภาคสนาม การพัฒนาด่านตรวจให้โปร่งใสและเป็นมิตรกับประชาชน เป็นต้น ซึ่งงานดังกล่าวนับเป็นตัวอย่างที่ดีของกระบวนการมีส่วนร่วมกันของภาครัฐและประชาชนที่เป็นกระบวนการใหม่ในการสร้างนโยบายของประเทศไทยในอนาคต
ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ผมเชื่อว่าทุกคนคงมีโอกาสได้สัมผัสพลังแรงใจของทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาสาใช้เครื่องมือและศักยภาพจุดเด่นของตนเองเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาส่วนรวม ในภาวะแบบนี้สังเกตได้ว่าหมวกหรือบทบาทของแต่ละคนมักไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อจำกัดหรือขอบเขต แต่ถูกนำมาใช้เป็นจุดแข็งและสปีดโบ๊ทของการทำงาน
เราเห็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐในระดับปฏิบัติงาน ร่วมกันทำงานแนว civic innovation ทั้งหมดนี้ได้ก็เพราะว่าบังเอิญวิกฤตินี้บีบบังคับให้เกิดการเปิดช่อง การกระจายอำนาจแบบเล็ก ๆ ในเวลาที่ยากลำบากที่สุดของทุกคน และ การถึงขีดสุดแห่งความจำเป็นที่จะต้องเริ่มใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทำไมเราไม่เรียนรู้จากประสบการณ์นี้แล้วประยุกต์มันเข้ากับเรื่องอื่น ๆ ของอนาคตประเทศ?
ถึงเวลาแล้วที่จะร่วมกันลอง “ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต” นี้อย่างเป็นทางการ และสเกลความสำเร็จของมันออกไปในวงกว้างด้วยกัน
ข่าวดีต่อที่ 3: ThailandFuture ของคุณเป็นแบบไหน?
ข่าวดีที่สาม คือ ThailandFuture ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีหน้าที่พิทักษ์อนาคตไทย ขออาสาเป็น “ตัวเร่ง” และ “ตัวรวม” (Catalyst & Aggregator) ทรัพยากรในประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนให้เกิด broad-based movement ในการพลิกกระบวนการคิดการทำนโยบายตามแนวทาง “ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต” ให้เกิดผลรวดเร็วยิ่งขึ้น
เรามีความฝันว่า วันหนึ่งการออกแบบนโยบายเพื่ออนาคตไทยจะเป็นเรื่องที่ทุกคน เข้าใจ เข้าถึง มีส่วนร่วมได้ และค้นพบว่ามันเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นและมีคุณค่า
และเราจะเริ่มจากรูปแบบการทำงานในสี่ด้านต่อไปนี้
1. ThailandFuture Policy Platform - เราสร้างพื้นที่ทางความคิดและการลงมือทำ อำนวยความสะดวกให้เกิดการเชื่อมต่อและสานฝันของผู้พิทักษ์อนาคตไทยจากทุกภาคส่วนให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันได้ง่ายและเป็นระบบขึ้น รวมถึงให้ความเห็นและมอบกรอบความคิดและความเชี่ยวชาญในการออกแบบนโยบายในลักษณะที่ data-driven และ user-centric เพื่อ “ร่วมคิด-ร่วมสร้าง” อนาคตประเทศได้อย่างสะดวกขึ้น
2. ThailandFuture Playbook - เราผลิต “แผนการเดินเกม” เพื่อหาช่องทางทะลายปัญหาที่กำลังปิดกั้นอนาคตร่วมงานกับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่มีพันธกิจชัดเจน ตกผลึกแนวทางปฏิบัติจากการศึกษา ออกแบบ ลงมือทำ และวัดผลกับปัญหาจริง ผู้ใช้จริง และพื้นที่จริง แผนการเดินเกมของเราจะอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและอัพเดทเวอร์ชันอยู่เสมอดั่งซอฟต์แวร์ เพื่อขยายผลการเปลี่ยนแปลงได้ทันต่อความท้าทายในยุค VUCA+COVID-19 World
3. ThailandFuture Talks - เราเชื่อว่านโยบายอนาคตเป็นเรื่องของทุกคนและ movement นี้ขาดใครสักคนก็ไม่ได้ เราจึงมีภารกิจจัดวงพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายอนาคตประเทศแบบสบาย ๆ ให้เกี่ยวกับตัวคุณและชวน Change Agents มาเล่าแนวทางหลักคิดทำนโยบายแบบเป็นวิทยาศาสตร์ รีวิวนโยบายในอดีต ตั้งคำถามในมุมมองที่สดใหม่ ให้เปิดโลก เข้าใจและเข้าถึงง่าย
4. ThailandFuture Upgrades - เราช่วยอัพเกรดการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย ผ่าน workshops โดยบุคลากรที่เป็นผู้นำในด้าน data-driven policy และ ด้าน foresight labs รวมถึงอาสาติดอาวุธการทำงานให้กับองค์กรภาครัฐด้วย data products ของเรา
ในภาวะที่ไฟกำลังไหม้บ้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหาวิธีเอาตัวรอดเพื่อต่อเติมและสร้างบ้านใหม่กันอีกครั้ง
เราต้องก้าวข้ามขั้วความคิด ข้ามบทบาท และขอบเขตบ้าง แล้วเริ่มเชื่อมต่อ กระจายงาน และร่วมกันค้นหาหนทางผสมวัตถุดิบที่ยังมีเหลือในอู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้ ให้ออกมาเป็นบ้านหลังใหม่ที่ดีกว่า เสมอภาคกว่า และยั่งยืนกว่าให้จงได้
ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ThailandFuture มีเรื่องที่เราตั้งเป้าผลักดันร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบทุกฝ่ายอยู่จำนวนไม่น้อย ได้แก่
ทางออกนโยบายในช่วงวิกฤติ COVID-19
แนวทางไปสู่เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่
คู่มือ Playbook เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน
คู่มือ Playbook เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
คู่มือ Playbook เพื่อไปสู่ “ตลาดทุนของทุกคน”
หากสิ่งที่ผมเขียนไปกระตุกความจริงในใจคุณหรือทำให้คุณสงสัยว่าประเทศนี้ยังเหลือความหวังอยู่จริงหรือไม่ ผมชวนให้คุณและองค์กรของคุณมาเข้าร่วม movement นี้กับเราผ่านเว็บไซต์ (www.ThailandFuture.org) และ ThailandFuture Facebook Page เพื่อช่วยกันกอบกู้และพิทักษ์อนาคตของประเทศไทย มาเป็น “โหนดตัวพ่อ-โหนดตัวแม่” ในการเริ่มขับเคลื่อน Future Policy Areas ทั้ง 20 ด้านไปด้วยกัน
ผมเล่าบ้านในความฝันของผมไปแล้ว แล้วความฝันของคุณล่ะ...คุณอยากให้ ThailandFuture ของคุณเป็นแบบไหน?
บทความโดย คุณณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ และคุณชยธร เติมอริยบุตร ThailandFuture (สถาบันอนาคตไทยศึกษา)
สื่อสารด้วยภาพโดย Punch Up
#thailandfuture #ผู้พิทักษ์อนาคตไทย #ร่วมคิดร่วมสร้าง
Opmerkingen