top of page
Search

ถอดบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 สู่การเตรียมคนไทยให้มีทักษะและพร้อมสู่อนาคตหลังโควิด

สรุปประเด็นเสวนาจาก Clubhouse “Lessons from the Crisis ถอดบทเรียนจากวิกฤติ Clubhouse Series ครั้งที่ 3 เรื่อง Upskilling/Reskilling” จัดโดย ThailandFuture และ Thailand Policy Lab


ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ThailandFuture กล่าวเปิดการเสวนาว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติระดับโลกที่ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลากหลายประการ ในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเราต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งการเรียนรู้จากวิกฤติในครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่หากเราไม่ปรับเปลี่ยนจะถูกโลกทิ้งไว้ข้างหลัง ประกอบกับในทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้โลกหมุนเร็วมากขึ้น ส่งผลให้โมเดลธุรกิจและทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย


หัวข้อเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราจะมาร่วมคิดและออกแบบนโยบายเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของเราทุกคน จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองของ ThailandFuture ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาและนวัตกรรมของประเทศ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ คุณวิลสา พงศธร เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พร้อมด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ CEO แห่ง StartDee และคุณพิริยะ กุลกาญจนาชีวิน Co-Founder และ Story Curator แห่ง Glow Story และ TEDxBangkok


โดยทาง ThailandFuture ได้ประมวลทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงเวลานี้และยุคหลังโควิด-19 สรุปดังนี้


วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานรวมทั้งยังเป็นปัจจัยเร่งการเกิด Digital Transformation จึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้แรงงานมีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยสรุปทักษะที่จำเป็นออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่



  1. ทักษะเพื่อรองรับ Digital Transformation

‘ทักษะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี’ ที่ต้องทำควบคู่กับการเข้าถึงเทคโนโลยีของทุกคน - ‘ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา’ เพื่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีขั้นก้าวหน้า


ทักษะที่จำเป็นในอนาคตขึ้นกับการที่เรามองว่าโลกอนาคตจะเป็นแบบไหน ซึ่งทักษะด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นในอนาคต คุณพริษฐ์ มองว่าอาจแบ่งได้เป็น ‘ทักษะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี’ ที่ต้องทำควบคู่กับการเข้าถึงเทคโนโลยีของทุกคน สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมหาศาลในการเข้าถึงทั้งระบบและอุปกรณ์ โดยเฉพาะในภาคการศึกษาและการค้า ในอนาคตการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการของภาครัฐ พร้อมทั้งต้องส่งเสริมการสร้างทักษะนี้ให้กับคนสูงอายุ เพื่อให้สามารถแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่เป็นข่าวลวงได้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะรู้ไม่เท่าทันต่อภัยคุกคามทางเทคโนโลยี เพราะไม่ได้เติบโตมากับเทคโนโลยีทำให้ไม่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ ทั้งนี้ การฝึกและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่ายเพราะผู้สูงอายุไม่สามารถปรับทักษะให้พร้อมสำหรับการทำงานใหม่ได้ในระยะสั้น จึงต้องคิดควบคู่กับสวัสดิการของรัฐ ทำให้เกิดแนวคิด UBI (Universal Basic Income) หรือสนับสนุนเบี้ยผู้สูงอายุที่มั่นคงในระหว่างการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ สอดคล้องกับที่ ดร.กาญจนา ชี้ว่าแรงงานต้องมี ‘ทักษะด้านดิจิทัลและการใช้ Social Media’ เพื่อรองรับการทำธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมาก ‘ทักษะการใช้ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ’ เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน เช่น software สำหรับการประชุมออนไลน์ Cloud สำหรับจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น และ ‘ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา’ เพื่อการทำงานร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) และระบบอัตโนมัติ



  1. Soft Skills ทักษะที่ทำให้เทคโนโลยีทดแทนมนุษย์ไม่ได้

ในอดีตเทคโนโลยีพัฒนาเพื่อให้สามารถทำงานที่เป็นการทำซ้ำ ๆ แต่ในอนาคตที่เทคโนโลยีจะก้าวหน้ามากขึ้น นอกจากการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี คุณพริษฐ์ ย้ำว่า เราต้องมุ่งเน้น ‘ทักษะ ที่ทำให้เทคโนโลยีทดแทนมนุษย์ไม่ได้’ การที่เราอยู่ในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ทำให้ทักษะการใช้เทคโนโลยีเป็นทักษะสำคัญ แต่ Soft Skills เป็นทักษะที่จำเป็นมาก

  • ‘Emotional Intelligence’ หรือ ‘Interpersonal Relationship’ เป็น Soft Skills ที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้

โดย ดร.กาญจนา และคุณวิลสา ให้ความสำคัญกับ ‘ทักษะ EI (Emotional Intelligence)’ หรือ ‘Interpersonal Relationship’ อันเป็น Soft Skills ที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ ได้แก่ ความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่น การทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างทางวัฒนธรรม การทำงานข้ามวัย ความฉลาดในการเข้าสังคม การรับรู้ความรู้สึกและเข้าใจผู้อื่น การเคารพซึ่งกันและกัน การคิดเชิงนวัตกรรม และการเข้าใจและตามทันโลกในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการบริหารจัดการการรับรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการใช้ทั้ง Hard and Soft Skills ในการเลือกรับและเลือกส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอด

  • ทักษะที่สำคัญมากในยุคโควิด-19

คุณวิลสา มองว่า ‘การปรับตัว (Adaptability)’ หรือ ‘ความฉับไวในการเปลี่ยนแปลง (Agility)’ เป็นทักษะที่จำเป็นในบริบทโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้คนที่สามารถปรับตัวได้เร็วจะก้าวข้ามอุปสรรคได้เร็วกว่า ในขณะเดียวกัน ดร.กาญจนา ชี้ว่า Soft Skills สำหรับการทำงานในช่วงโควิด-19 ที่จำเป็นต้องทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น คือ ‘การทำงานเป็นทีม’ โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมแบบออนไลน์เป็นทักษะที่สำคัญมาก ต้องมีการเตรียมตัว วางแผน และรู้บทบาทของตัวเอง ‘การสื่อสาร’ การทำงานออนไลน์ทำให้ต้องสื่อสารผ่านตัวอักษรมากขึ้น ต้องมีการคิดถึงความรู้สึกคนอื่นมากขึ้นในถ้อยคำที่เราพิมพ์ส่งไป และ ‘การเข้าใจบริบทการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ’


‘การสื่อสาร' เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำงานกับคน โดย คุณพิริยะ กล่าวว่า หลักพื้นฐานของการพูดให้น่าสนใจและน่าฟัง เริ่มต้นจากการคิดและวิเคราะห์ได้เก่ง เป็นหลัก 4C กล่าวคือ Communication การสื่อสารที่คิดถึงผู้ฟังไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำให้ต้องเรียนรู้ Collaboration การสื่อสารงานให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม ร่วมกับมี Creativity ในการนำเสนอ อันเป็นการคิดถึงสิ่งที่น่าสนใจใหม่ ๆ ก่อนการเล่าเรื่องและชวนเพื่อนมาทำงานร่วมกัน สำหรับกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญที่สุด คือ Critical Thinking หรือการตั้งคำถาม ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง


ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น คุณพิริยะ ได้เล่าถึงประสบการณ์ทำงานอาสากับเด็ก ๆ ใน TEDxYouth ที่ทำให้นึกถึง TED Talk ของ Sir Ken Robinson เรื่อง Do schools kill creativity? ในวันที่ระบบหรือโรงเรียนกำลังบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ผ่านการท่องจำหรือการห้ามตั้งคำถาม แต่ในขณะนี้ Creativity kills schools เด็กเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกสอน ซึ่งเป็นพลังความคิดสร้างสรรค์ตามวัยและข้อมูลที่เด็ก ๆ ได้รับ โดยเฉพาะเด็กที่เข้าถึงเทคโนโลยีจะง้อระบบหรือโรงเรียนน้อยลงเรื่อย ๆ และเริ่มตั้งคำถามว่าเรามาโรงเรียนเพื่ออะไร


ทางด้านคุณครู ก็เป็นที่สังเกตได้ว่า ครูสูงอายุบางท่านเริ่มไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ระบบออนไลน์ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็กลับมีครูหลายท่านที่สามารถสอนออนไลน์ได้สนุกและน่าสนใจ สถานศึกษาควรจะเป็นสถานที่ค้นหาตัวตน ตั้งคำถาม หรือเปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่มีผู้ใหญ่ชี้แนะ จึงอยากชวนผู้ใหญ่มองเด็กในมุมที่ไม่ได้เป็นเพียงแรงงานในระบบหรือฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รับฟัง ความใฝ่ฝันของพวกเขาในสิ่งที่อยากจะเห็นและทำเพื่อประเทศ เด็กยุคใหม่มีทักษะการสื่อสารที่ดีและเด็กจะสามารถใช้ทักษะที่มีได้มากที่สุด หากผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมามีคนรุ่นใหม่ออกไปทำงานหรือก่อตั้งธุรกิจในต่างประเทศด้วยข้อจำกัดของกฎหมายมากขึ้น โดยส่วนตัวจึงไม่เป็นห่วงเด็ก ๆ ที่มีความสามารถในการปรับตัวจากวิกฤติโควิด-19 แต่เป็นห่วงการปรับตัวของผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีมากกว่า เพราะกลุ่มเหล่านี้ต้องให้โอกาสและความพร้อมแก่เด็กกลุ่มนี้ด้วย


ในประเด็นเรื่อง Critical Thinking ดร.ณภัทร เห็นด้วยว่าเป็นทักษะที่หากไม่มีจะอันตรายมาก แม้จะมี AI แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา พร้อมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากผลการประเมิน PISA (Program for International Student Assessment) นักเรียนไทยมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์แยกแยะสื่อหรือการอ้างอิงผลงานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลหากมีการใช้ AI นำเสนอข่าวและเราไม่สามารถแยกแยะจริงเท็จได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากหลักสูตรการศึกษาของไทยไม่ได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ ประกอบกับประเทศไทยมีข่าวปลอมจำนวนมาก


นอกจากนี้ กรอบที่ผู้ใหญ่วางตั้งแต่ก่อนเราเกิดอาจจะทำให้ไฟในตาเด็กมอดลง ทำให้ Creativity หายไปเมื่อเราโตขึ้น และการตั้งคำถามว่า เราไปโรงเรียนทำไม ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่า การศึกษาในระบบมีต้นทุนและผลตอบแทนเท่าไรและมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของทักษะเด็กเพียงไร ดร.ณภัทร กล่าวเสริมในประเด็นที่หากคนรุ่นใหม่จะมีอายุยืนยาวขึ้น โดยที่กฎหมายแรงงานและการเกษียณอายุยังคงเป็นแบบเดิม ‘ความรู้ทางการเงิน’ เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับคน ทุกรุ่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ได้รับค่าตอบแทนในตลาดแรงงานค่อนข้างต่ำ ทั้งยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เข้ามาแย่งงาน ความมั่งคั่งที่ลดลง เป็นต้น นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง ดังนั้น ความรู้และทักษะทางการเงินจึงสำคัญ คนเราจะต้องรู้จักจัดการรายรับรายจ่ายของตัวเองและกิจการเพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้สิน

  • ทักษะในการทำงานกับคนที่แตกต่าง

ในอนาคตเราจำเป็นต้องทำงานกับคนต่างชาติและต่างวัยเพิ่มมากขึ้น คุณพริษฐ์ จึงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญกับทักษะในการทำงานกับคนที่แตกต่าง ประกอบด้วย ‘ทักษะในการทำงานร่วมกับคนต่างชาติ’ และ ‘ทักษะการทำงานร่วมกับคนต่างวัย’ ปัจจุบันแรงงานไทยยังคงมีปัญหาในเรื่อง ‘ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ’ เด็กไทยยังไม่กล้าสื่อสารอังกฤษเมื่อเทียบกับเด็กรุ่นเดียวกันในประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งที่หลักสูตรการศึกษาของไทยกำหนดให้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษก่อนบางประเทศ ซึ่งอาจเป็นผลจากการมุ่งเน้นให้ศึกษาไวยกรณ์หรือท่องจำหลักภาษามากเกินไปและไม่ได้สร้างบรรยากาศให้เด็กกล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ประสบการณ์ของคนแต่ละรุ่นแตกต่างกันมาก คนแต่ละช่วงอายุเติบโตมาในบริบทของโลกที่แตกต่างกัน ผู้สูงอายุเติบโตมากับสงครามเย็นมีความหวาดระแวงในเรื่องการแทรกแซงกิจการภายในประเทศจากประเทศมหาอำนาจทำให้นำทัศนคติและกรอบความคิดดังกล่าวมาใช้กับบริบทของโลกในยุคปัจจุบัน ในขณะที่คนรุ่นใหม่เติบโตมาในโลกไร้พรมแดน และเด็กไทยมองตัวเองเป็นพลเมืองโลกมากกว่าชาติอื่น ๆ เพราะการเข้าถึงและใช้สื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องพยายามทำให้ช่องว่างของความแตกต่างระหว่างความคิดนี้ แคบลง เมื่อคนรุ่นใหม่จะต้องทำงานกับคนต่างวัยเยอะขึ้น ทั้งสองฝ่ายต้องมี ‘ทักษะที่จะเข้าใจและยอมรับความแตกต่างทางความคิด’ แต่ไม่ใช่การทำให้เป็นความคิดเดียวกัน ซึ่งความแตกต่างระหว่างช่วงวัยของคนในประเทศเดียวกันอาจจะมากกว่าความแตกต่างระหว่างคนช่วงวัยเดียวกันที่อยู่ต่างประเทศกัน ในอนาคตเราอาจจะต้องไม่เพียงศึกษาค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศแต่รวมถึงแต่ละช่วงวัย เพื่อทำความเข้าใจและสามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงสามารถยอมรับกันมากขึ้นบนจุดยืนที่แตกต่างกัน ทักษะที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 ดังกล่าว โดยเฉพาะ Soft Skills เป็นทักษะที่จำเป็นและส่วนใหญ่ไม่มีการสอนอย่างเป็นทางการในระบบการศึกษาของไทย ซึ่ง ดร.ณภัทร ชี้ว่า ประเด็นนี้น่าเป็นห่วงอย่างมากเพราะเราใช้เวลากว่า 80% ของวัยเด็กในโรงเรียน อย่างไรก็ดี การพัฒนาทักษะต้องมองทั้งสเปกตรัมตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มีประชากรอายุเกิน 60 ปี กว่า 20% ทำให้เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุด้วย



  1. ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต Learn - Unlearn - Relearn

  • ‘Learning to Learn’

ความท้าทายที่เกิดขึ้น คุณวิลสา มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นทักษะที่จำเป็นกับบริบทของโลกในปัจจุบันและประเทศไทย ระบบการศึกษาต้องสอนคนให้มี ‘ทักษะการใฝ่รู้/การหมั่นหาความรู้รอบด้าน’ หรือ ‘Learning to Learn’ และควรเป็นทักษะของคนทุกช่วงวัย เพราะจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีในการสร้างทักษะที่ตรงกับความต้องการในอนาคตหรือทักษะที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไปได้ โดยยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Intern ที่ได้ข้อคิดว่า ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อีกทั้งคำว่า Internship ยังเป็นหลักการที่สำคัญของการเรียนรู้ คือ ‘Learning by Doing’ การเรียนรู้ที่ดีสุดคือการลงมือทำ นอกจากนี้ คุณวิลสา ได้กล่าวถึง พิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ซี่งเป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) มี 13 หลักการ ประกอบด้วย 1. การลงมือทำ การพัฒนาทักษะเกิดจากการลงมือปฏิบัติ 2. ความเชื่อมั่น ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด 3. ความครอบคลุม การศึกษาทุกประเภท ทั้งในและนอกระบบ 4. ความเสมอภาค ในการเข้าถึงการศึกษา 5. การผสมผสาน แต่ละช่วงวัยควรได้รับการศึกษาหลากหลายรูปแบบผสมผสานกันเพื่อให้สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ การอยู่ในโรงเรียนยังมีความจำเป็นในการช่วยพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐาน 6. หลักการเทียบโอน ไม่ว่าจะเรียนรู้ในรูปแบบใด 7. ความหลากหลายและความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งระบบการศึกษาไทยมีจุดอ่อนที่ยังไม่ส่งเสริมให้เด็กสามารถเลือกเรียนได้หลากหลายตามความถนัดและความสนใจ 8. ความยืดหยุ่น กฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ รวมถึงวิธีการและสถานที่เรียนยังไม่มีความไม่ยืดหยุ่น 9. ความต่อเนื่อง ควรมีแหล่งการเรียนรู้หรือให้บริการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างเพียงพอและทำได้ทุกที่ทุกเวลา 10. ความกลมกลืน รวมถึง 11. ความสำคัญของชีวิต การศึกษาจะต้องจัดให้สอดรับกับการดำเนินชีวิตของคนและชุมชน ทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 12. การแสวงหาความรู้ ทำให้คนแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา และ 13. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ



  • ‘Learn to unlearn’

ไม่เพียงแค่ ‘Learning to Learn’ แต่เราต้อง ‘Learn to Unlearn’ ด้วย


ดร.กาญจนา กล่าวว่า แรงงานต้องปรับ Mindset ให้ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิม หรือ ‘Learn to Unlearn’รัฐต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่ใกล้จะเกษียณอายุหรือเกษียณอายุแล้วเป็นกลุ่มคนสูงอายุที่ตื่นตัว (Active) และมีคุณภาพ (Productive) รวมถึงส่งเสริมให้ประกอบอาชีพ เรียนรู้จักการใช้ชีวิต เข้าสังคม มีความสุข มีสุขภาพกายและจิตที่ดี และทำประโยชน์ให้สังคมได้ ในอนาคตคนจะอายุยืนยาวไปอีกอย่างน้อย 20 ปี คนที่อายุ 50 ปีในขณะนี้จะมีอายุยืนได้ถึง 80 - 90 ปี และเด็กที่เกิดในช่วงนี้จะมีอายุได้ถึง 100 ปี เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเตรียมการที่ดีก่อนเกษียณอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 45 - 60 ปี ควรเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพกายและการเงิน จึงต้องมีกลไกในการส่งเสริมผู้สูงอายุรูปแบบใหม่ เช่น แพลตฟอร์มที่รวบรวมความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ


คุณพิริยะ ยกคำกล่าวของ Alvin Toffler การไม่รู้หนังสือ (Illiteracy) ในศตวรรษที่ 21 คือ การไม่สามารถเรียนรู้ที่จะไม่รู้ (Learn to unlearn) โดยเฉพาะทักษะการ Unlearn ที่ไม่สามารถทำได้ง่าย พร้อมทั้งยกตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างคนสองรุ่นในกลุ่มงานสายเทคโนโลยี ข้อจำกัดของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าไปทำงานในระบบทำให้มีไอเดียกระจัดกระจายและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น ทำงานกับ Mentor ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในวงการราชการหรือผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานมานานและมีความเข้าใจระบบ เมื่อเด็กรุ่นใหม่ที่มีพลังรวมกับผู้ใหญ่รุ่นเก๋าที่เข้าใจระบบทำให้เกิดเป็นการทำงานร่วมกันได้อย่างยอดเยี่ยม สิ่งหนึ่งที่คนทั้งสองรุ่นมีความเห็นตรงกัน คือ การแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤติโควิด-19 ไม่อาจทำได้ในระดับปัจเจก ต้องเป็นการปรับเปลี่ยนระบบและโครงสร้างอย่างจริงจัง และจำเป็นที่ต้องอาศัยพลังจากคนสองรุ่นทำงานร่วมกัน เช่น การเปิดการทำงานของภาครัฐให้โปร่งใส การเข้าถึงสวัสดิการอย่างเท่าเทียม เป็นต้น สิ่งที่อยากให้ผู้ใหญ่ Unlearn มากที่สุด คือเรื่องการมองคน อยากให้ปรับเปลี่ยนเป็นการมองคนทุกรุ่นมีความเป็นมนุษย์ มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ เท่าเทียมกัน หากผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้และใช้พลังความสามารถจากคนรุ่นใหม่ได้ จะทำให้เกิดการยอมรับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การสร้างสรรค์วิธีใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงได้


จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองร่วมกันทำให้ได้กลุ่มทักษะที่คนไทยควรเร่งปรับและพัฒนาสำหรับเตรียมความพร้อมรองรับ Digital Transformation ที่มีวิกฤติโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งปรับบทบาทเพื่อให้ประเทศไทยมีคนที่มีศักยภาพพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในบริบทโลกอนาคต ดังนี้



  1. บทบาทภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน

องค์กรภาครัฐและบริษัทในภาคเอกชน มีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาการเรียนรู้ของพนักงานหรือผู้ใหญ่ เพราะความรู้ที่เรียนมามีวันหมดอายุทำให้วัยทำงานต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยรัฐต้องทำตัวเป็น Facilitator ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องกระจายอำนาจให้ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายในเชิงพื้นที่มากขึ้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้การฝึกและพัฒนาทักษะสอดคล้องและทันกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

  • ‘No One Left Behind’ ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กในกลุ่ม NEET (Not in Education Employment or Training) หรือเด็กที่ไม่อยู่ในการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกทักษะ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด จากสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ล่าสุดพบว่า เยาวชนในวัย 15 – 24 ปี ประมาณ 1.4 ล้านคน รวมถึงเด็กในกลุ่มคนชายขอบ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับการฝึกทักษะเพื่อสั่งสมความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนไม่ควรละเลยโอกาสที่จะพัฒนาเด็กกลุ่มดังกล่าวเพราะจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

  • ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงาน นอกระบบที่มีจำนวนมาก ควรสร้างแรงจูงใจให้พัฒนาทักษะแรงงานและส่งเสริมการพัฒนาทักษะตลอดชีวิต โดยเฉพาะการออกแบบแพ็คเกจสนับสนุนเรื่องการเงิน ซึ่งต้องมีการหารือและทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ

  • ภาครัฐจะต้องเป็น Facilitator ในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะ ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นตัวกลาง ในการดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม มี Public Learning Space กระตุ้นให้คนเรียนและหางานทำ ในอนาคตจะมี Gig Worker มากขึ้น คือ ไม่มีงานประจำ แต่ทำงานหลาย ๆ ที่พร้อมกันระยะสั้น ๆ จึงควรมีแพลตฟอร์มรองรับการหางานและพัฒนาทักษะของคนกลุ่มนี้ ดังเช่น ในประเทศสิงคโปร์มีแพลตฟอร์มชื่อว่า Skill Future ให้คนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะต่าง ๆ จากสถานศึกษาและองค์กรจากภาคเอกชน โดยมีระบบ Credit Bank รวบรวมหน่วยกิตที่เรียน สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จของแพลตฟอร์ม คือ แรงจูงใจ (Incentive) จากภาครัฐ เช่น การลดหย่อนภาษี การแลกส่วนลดในการเรียนหลักสูตรถัดไป เป็นต้น ปัจจุบันสถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มในลักษณะนี้ ซึ่งหากทำสำเร็จถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและเป็น Demand Driven ที่ให้เอกชนมีส่วนร่วมทำให้ทราบข้อมูลของทักษะที่ภาคเอกชนต้องการ

  • บริษัทเอกชนจะต้องวางตัวเป็นมหาวิทยาลัยอีกแห่งในการวางหลักสูตรการพัฒนาบุคลากร ซึ่งไม่มีแนวทางตายตัว ในด้านอุปทาน (Supply side) ผู้ประกอบการจะออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาพนักงานในการทำงานมากที่สุด หรือด้านอุปสงค์ (Demand side) ให้งบประมาณแก่พนักงานในการเลือกเรียนพัฒนาทักษะตามความสนใจ จะส่งเสริมให้พนักงานพัฒนามากที่สุด


  1. บทบาทภาคการศึกษา

สถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานทักษะแห่งอนาคต โดยองค์ประกอบที่สำคัญของภาคการศึกษา ได้แก่ ระบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษา สถานศึกษา และครูอาจารย์ ซึ่งจะต้องปรับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ ดังนี้

  • ระบบการศึกษา


  • ทำให้กลไกตลาดจะเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มการแข่งขันของระบบการศึกษาไทยเพื่อให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ควบคู่กับการกระจายงบประมาณด้านการศึกษาที่ไม่ให้เกิดการกระจุกตัวในโรงเรียนขนาดใหญ่และทำให้เกิดการควบรวมโรงเรียนเพื่อประหยัดงบประมาณ ทำให้ต้องปิดโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเชื่อมโยงกับระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยทั้งระดับอุดมศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐานมี Sandbox ที่ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมออกแบบนโยบาย หลักสูตร และพื้นที่การเรียนรู้

  • ส่งเสริมการกระจายอำนาจ ทั้งอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณ โดยลดระเบียบขั้นตอนทางราชการบางอย่างที่จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อำนาจในการคัดเลือกบุคลากรที่อยู่ในส่วนกลาง และอำนาจใน การออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่หรือหลักสูตรประจำโรงเรียน

  • ต้องปรับให้ไม่ยึดติดกับค่านิยมที่ต้องศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ประเทศไทยยังคงยึดถือค่านิยมที่เรียนจบระดับมัธยมแล้วมีผลการเรียนดีให้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ควรสร้างทางเลือกที่ให้ศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ได้แก่ การเลือกศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย การศึกษาต่อในสายอาชีพ และการทำงาน หรือ gap year สำหรับการค้นหาตัวเองดังเช่นในต่างประเทศ

  • ออกแบบระบบการศึกษาเหมาะสมกับคนและพื้นที่ ที่เด็กเก่ง ๆ ไม่จำเป็นต้องสอบแข่งขันเพื่อเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษาที่ส่วนกลางหรือในกรุงเทพฯ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความผูกพันกับพื้นที่ที่เราเติบโตมาไม่มากก็น้อย


  • หลักสูตรการศึกษา (ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน – ระดับอาชีวศึกษา – ระดับอุดมศึกษา)


  • เริ่มการแนะแนวอาชีพตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเพื่อให้เด็กมีเวลาสำหรับการค้นหาตัวเอง ซึ่งปัจจุบันเริ่มต้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถือว่าช้าเกินไป สำหรับเด็กที่ออกนอกระบบไปแล้วและกลุ่มเด็กเปราะบาง ควรได้รับโอกาสในการฝึกงานเพื่อพัฒนาทักษะ พร้อมกับสร้างระบบการมีพี่เลี้ยงเพื่อแนะนำการใช้ชีวิตและการเงินในทิศทางที่ถูกต้อง

  • ให้ความสำคัญกับทักษะแทนการมองเรื่องรายวิชาเรียน เช่น การมุ่งเน้นพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์เท่านั้น แต่การสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่สอนอย่างถูกวิธีจะเป็นการฝึกการคิดวิเคราะห์ได้ดี เป็นต้น รวมทั้งควรวางรากฐานการพัฒนาทักษะที่สำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ยิ่งเรียนเร็วยิ่งมีโอกาสใช้ภาษาสื่อสารได้เร็วจะยิ่งมีการพัฒนาทักษะได้เร็วกว่า และเด็กจะเรียนรู้ภาษาได้ดีกว่าการเรียนตอนเป็นผู้ใหญ่

  • ส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นได้ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเป้าหมายและบริบทที่แตกต่างกันของคนในพื้นที่นั้น ๆ เช่น โจทย์คณิตศาสตร์ในพื้นที่ท่องเที่ยวอาจเป็นการคำนวณต้นทุนการเปิดกิจการโรงแรม หรือในพื้นที่เกษตรกรรมอาจะเป็นการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร เป็นต้น เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของคนในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เห็นถึงความสามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากที่ใดก็ได้

  • สอนให้เด็กต่อต้านการทุจริต โดยยกประเด็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง (Self-Interest) แทนประเด็นคุณธรรมที่เป็นเรื่องปัจเจกและนามธรรม และต้องให้เด็กได้ฝึกในภาคปฏิบัติเพราะจะทำให้เด็กเห็นถึงอำนาจของตัวเอง เห็นข้อจำกัด และการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองสามารถสร้างได้

  • วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนให้มีหลักสูตรตามสมรรถนะ (Competency Based Curriculum) ให้ความสำคัญกับการเรียนจบมาแล้วมีงานทำสามารถสร้างงานและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ทำ Work Integrated Learning เชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมในการจัดการเรียนการสอน การส่งต่อข้อมูลทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยควรดึงภาคเอกชนให้มามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร เนื่องจากเอกชนจะทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต ในต่างประเทศที่เอกชนมีส่วนในการออกแบบหลักสูตร ให้พื้นที่ในบริษัทเป็นพื้นที่ฝึกงาน หรือรับประกันว่าเรียนจบหลักสูตรนี้แล้วมีงานทำในบริษัท



  • บทบาทของสถานศึกษา


  • ไม่เป็นเพียงพื้นที่หลักของการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยรองรับที่มีความแตกต่างหลากหลาย ครูออกแบบวิธีการสอนและการสื่อสารที่ตอบรับความต้องการที่หลากหลายของเด็กได้ ระบบที่เอื้อให้ครูสามารถสอนและดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่และทั่วถึงมากกว่ามุ่งเน้นการวิจัยและการประเมินผลเลื่อนขั้นของครู ถ้ารัฐสามารถกระจายอำนาจและโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เด็กไทยยังมีเหตุผลที่ต้องไปโรงเรียน แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

  • เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้จักตัวเองของนักเรียนให้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วพัฒนาทักษะที่สำคัญกับการต่อยอดความชอบนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากของโรงเรียน แต่ระบบการศึกษาไทยปัจจุบันไม่สนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากเด็กไทยเรียนหนักมากจนไม่มีเวลาค้นหาตัวเองหรือไม่มีความยืดหยุ่นในการลงลึกในเรื่องที่ตัวเองชอบ จึงจำเป็นต้องคิดว่าเราจะต้องลดเวลาเรียนหรือไม่ มีบทเรียนไหนที่ไม่จำเป็นต้องตัดออก เพิ่มความยืดหยุ่นให้สามารถเลือกเรียนตามความสนใจ

  • บทบาทของครูอาจารย์


  • การพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นครูอาจารย์ให้มีบทบาทในการเป็น Facilitator ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นปัจจัยที่สำคัญเท่ากับการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะในสถาบันผลิตครู เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งค่าตอบแทนของครูเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งปฏิรูป




เรียบเรียงโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล และดวงกมล แก่นสาร

สื่อสารด้วยภาพโดย อธิปัตย์ เพ็งผลา

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/


248 views0 comments
bottom of page