top of page
Search

ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4: โลกยุคใหม่ที่ทุกคนต้องรู้จัก

The Forth Industrial Revolution by Klaus Schwab (2017)


หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการทำความเข้าใจกับปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ หนังสือเขียนโดยเคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) โครงสร้างหนังสือประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการและภาพรวมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันอย่างกระชับ และเน้นให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งผลกระทบจะกว้างขวางและเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปอย่างมาก




ส่วนที่สองของหนังสือจะฉายภาพให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จากนั้นส่วนที่สาม ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้เขียนให้ความสำคัญสูงจะกล่าวถึงผลกระทบในหลากหลายด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ รัฐบาล สังคม และระดับปัจเจกบุคคล ส่วนสุดท้าย ที่ถือว่าเป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุดส่วนหนึ่งปรากฏในภาคผนวก ผู้เขียนได้รวบรวมและนำเสนอการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ 21 ประการ ชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ผลกระทบทางบวกและลบ พร้อมทั้งตัวอย่างประกอบในทุกเทคโนโลยี


ผู้ที่สนใจสามารถหาหนังสือสำคัญเล่มนี้ ที่โชคดีได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณศรรวริศา เมฆไพบูลย์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)


หัวใจของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4


โลกเรามีการปฏิวัติการเกษตร ซึ่งเปลี่ยนจากสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์มาเป็นการทำการเกษตร จากนั้นมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมหลังศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดการใช้เครื่องจักรมาทำงานทดแทนหรือควบคู่กับแรงงานมนุษย์ แล้วเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เมื่อค้นพบกระแสไฟฟ้า หลังทศวรรษที่ 1960 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คือการใช้คอมพิวเตอร์หรือดิจิทัล จากนั้นผลของการปฏิวัติดิจิทัลจึงนำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการหลอมรวมเทคโนโลยีต่างๆ ข้ามโลกกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพ อันเป็นผลมาจากระบบอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย ตัวเซ็นเซอร์ที่เล็กและทรงพลัง ปัญญาประดิษฐ์และเครื่องจักรกลเรียนรู้ และพันธุวิศวกรรมที่ก้าวหน้า


ผู้เขียนชี้ว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพราะผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ จะเพิ่มประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายด้าน สิ่งที่ท้าทายจะตกอยู่ในกลุ่มของผู้ผลิตและคนทำงาน โดยคำถามของทุกอุตสาหกรรมและทุกองค์กรไม่ใช่เพียงเราจะถูกเทคโนโลยีทำให้พลิกผัน (Disrupt) องค์กรหรือเปล่า แต่จะต้องถามต่อว่าเมื่อการพลิกผันมาถึง มันจะมีรูปแบบอย่างไรและจะส่งผลกระทบต่อเราและองค์กรอย่างไร


แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ


หนังสือแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแรงขับเคลื่อน 3 แรงหลัก คือ ด้านกายภาพ ด้านดิจิทัล และด้านชีวภาพ ในด้านกายภาพ แนวโน้มใหญ่ทางเทคโนโลยีด้านกายภาพมี 4 เรื่องที่สำคัญ คือ ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เครื่องพิมพ์สามมิติ วิทยาการหุ่นยนต์ และวัสดุใหม่ ในด้านดิจิทัล แนวโน้มเทคโนโลยีหลักคืออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และบล็อกเชน (Blockchain) ที่ทำให้เกิดแพล็ตฟอร์มที่เชื่อถือได้ที่เชื่อมคนเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งจะนำไปสู่การทำธุรกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย และจะเปลี่ยนโลกไปอย่างชิ้นเชิง ในด้านชีวภาพ การวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามาทำให้เกิดการบำบัดและปรับแต่งพันธุกรรม รวมถึงมีการฝังและใช้อุปกรณ์ควบคุมระดับกิจกรรมทางร่างกายและสารเคมีในเลือดได้ แนวโน้มทางเทคโนโลยีทั้งหมดจะหลอมรวมโลกกายภาพ โลกดิจิทัลและโลกชีวภาพเข้าด้วยกัน และพลิกโฉมระบบต่างๆ ของโลกไปอย่างมาก


ผลกระทบ


หนังสือเน้นการถกเถียงให้ข้อมูลในด้านผลกระทบเป็นอย่างมาก ในด้านเศรษฐกิจ ตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคคาดว่าจะถูกกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และผลิตภาพการผลิต การทดแทนแรงงานโดยเครื่องจักรเป็นประเด็นที่สำคัญระดับโลก เพราะงานวิชาชีพจะได้รับผลกระทบจากระบบอัตโนมัติด้วย อาชีพต่างๆ เช่น พนักงานขายทางโทรศัพท์ ผู้เตรียมเอกสารภาษี ผู้ประเมินความเสียหายด้านประกันภัยรถยนต์ เลขานุการ พนักงานต้อนรับในร้านอาหาร แรงงานเกษตร คนส่งพัสดุ มีโอกาสกว่า 90% ที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ


การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมากด้วย เพราะความคาดหวังของผู้บริโภคกำลังจะเปลี่ยนไปจากสิ่งที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำได้ ผลิตภัณฑ์จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยข้อมูล เกิดความร่วมมือใหม่ๆ และวิถีการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลใหม่ๆ บริษัทที่สามารถผสมผสานมิติดิจิทัล กายภาพและชีวภาพเข้าด้วยกันได้จะประสบความสำเร็จอย่างสูง


ผู้เขียนมองโลกในแง่ดีว่ารัฐบาลน่าจะได้ประโยชน์สูงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้เพราะจะทำให้สามารถดูแลประชาชน อำนวยความสะดวก ให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง ประชาชนจะได้รับข้อมูลมากขึ้น สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถปลดล็อคกฎระเบียบต่างๆ ได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวจะเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตลอดจนมิติทางศีลธรรม ความเหลื่อมล้ำ การกำกับดูแล สิทธิมนุษยชน และสงครามไซเบอร์


ส่วนสุดท้ายของหนังสือ นำเสนอจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีและผลกระทบต่อสังคมจาก 21 เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วงให้ผู้อ่านสามารถพิจารณาไปทีละเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความสนใจหรืองานของตน เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้าไปศึกษาเชิงลึกในเทคโนโลยีแต่ละประเภทได้ต่อไป


270 views0 comments

Comentarios


bottom of page