top of page
Search

สร้างฉากทัศน์อนาคตเพื่อเปลี่ยนโลก

หนังสือ Transformative Scenario Planning: Working Together to Change the Future เขียนโดย Adam Kahane ผู้เขียนมีบทบาทสำคัญจากการใช้วิธีการสร้างฉากทัศน์อนาคต (Scenario Method) เพื่อแก้ไขหรือเผชิญความท้าทายต่างๆ ของสังคม ผู้เขียนเคยเขียนหนังสือที่น่าสนใจขึ้นมา 2 เล่ม โดยเล่าประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของโลก หนังสือเล่มแรกคือ Solving Tough Problems: An Open Way of Talking, Listening, and Creative New Realities เล่าประสบการณ์การจัดกระบวนการสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตในประเทศต่างๆ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว หนังสือเล่มต่อมา Power and Love: A Theory and Practice of Social Change ได้สรุปบทเรียนของชีวิตและสร้างกรอบการทำงานใหม่ว่าสิ่งที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงมาจากพลัง 2 พลังที่สำคัญคืออำนาจและความรัก




หนังสือ Transformative Scenario Planning: Working Together to Change the Future นี้เป็นหนังสือที่สรุปแนวทางและวิธีการการใช้วิธีการวางแผนอนาคตโดยการสร้างฉากทัศน์อนาคต จึงวางตัวเป็นคู่มือสำหรับให้ผู้ที่สนใจนำไปปฏิบัติเอง หนังสือได้ถ่ายทอดบทเรียนและประสบการณ์ที่เป็นระบบขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป


ในบทนำ ผู้เขียนได้กล่าววัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานร่วมกับคนอื่น คนอื่นที่ไม่ใช่เพียงเพื่อนและผู้ร่วมงาน แต่คือคนแปลกหน้าและฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ทำให้สถานการณ์หยุดชะงัก ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน


คำหนึ่งที่ใช้มากในหนังสือคือ “Transform” หรือการเปลี่ยนผ่าน การข้ามผ่าน ซึ่งเป็นจุดเน้นพร้อมๆ กับคำว่า “สร้างอนาคต” หรือ “สร้างการเปลี่ยนแปลง” ไม่ใช่เพียงการปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น


พลิกประเทศผ่าน Scenario Planning


ผู้เขียนได้กลับไปเล่าถึงสถานการณ์สำคัญของประเทศแอฟริกาใต้ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ. 1990 ซึ่งประธานาธิบดี F.W. de Klerk ได้ประกาศปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) หลังจากถูกจำคุกมานานถึง 27 ปี ภายหลังจากนั้นประเทศแอฟริกาใต้ได้เข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ของประเทศครั้งใหญ่ เพื่อก้าวผ่านนโยบายการแบ่งแย่งสีผิวที่มีมาอย่างยาวนาน ในขณะนั้น ชาวแอฟริกาใต้ล้วนตื่นเต้น กังวลและสับสน เพราะพวกเขาต่างรู้กันว่าสิ่งต่างๆ กำลังจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าอนาคตของเขาและประเทศของเขาจะเป็นอย่างไร


ในเวลานั้น ศาสตราจารย์ Pieter le Roux และ Vincent Maphai เกิดความคิดขึ้นมาว่าน่าจะนำกลุ่มที่จะขึ้นเป็นผู้นำของประเทศหลากหลายกลุ่มมาพูดคุยกันถึงทางเลือกและรูปแบบของการเปลี่ยนผ่านของประเทศครั้งสำคัญนี้ พวกเขาเคยได้ยินถึงวิธีการวางแผนสร้างภาพฉากทัศน์อนาคต (Scenario planning methodology) ที่ริเริ่มโดยบริษัทเชลล์ วิธีนี้เคยทำให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้จากภาวะวิกฤตการณ์น้ำมันโลกมาได้ วิธีนี้ก็อาจสามารถนำมาใช้ในการพูดคุยเพื่อแก้วิกฤตของประเทศแอฟริกาใต้ครั้งนี้ได้เช่นกัน


ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กำลังทางานอยู่ฝ่ายการจัดทำแผนภาพอนาคตของบริษัทเชลล์ ที่กรุงลอนดอน ศาสตราจารย์ Le Roux ได้เชิญผู้เขียนให้มาเป็นผู้นำการจัดประชุม และนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งสำคัญของผู้เขียน ซึ่งในที่สุดก็ได้กลั่นกรองประสบการณ์ทั้งหมดออกมาเป็นหนังสือก่อนหน้านี้ 2 เล่ม


ภายหลังกิจกรรมกระบวนการจัดทำภาพอนาคตดังกล่าวที่ประเทศแอฟริกาใต้ ก็เกิดภาพฉายอนาคตที่มีชื่อเสียงมากของโลกขึ้นมาซึ่งเรียกกันว่า “Mont Fleur Scenario” ตามชื่อสถานที่จัดงาน และเป็นภาพอนาคตที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในแอฟริกาใต้ สุดท้ายผู้คนในประเทศก็เห็นภาพอนาคตของประเทศที่ชัดเจนและร่วมมือกันเลือกภาพอนาคตหนึ่งในนั้น คือ ภาพฉากทัศน์การโบยบินของเหล่านกฟามิงโก (Flight of the Flamingoes) ไปสู่ฟากฟ้าร่วมกัน แทนที่จะเป็นภาพอนาคตของนกกระจอกเทศที่มุดหัวกับทราย (Ostrich) หรือเป็ดง่อย (Lame Duck) ที่ทำอะไรไม่ได้ หรืออิคารัส (Icarus) แม้จะโบยบินขึ้นฟ้าแต่ก็ที่ถูกแสงอาทิตย์แผดเผาจนปีกขี้ผึ้งละลาย


ผู้เขียนเน้นถึงหัวใจของวิธีการสร้างภาพฉากทัศน์อนาคต คือการไม่ได้ต้องการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น (they predict will happen) หรือสิ่งที่คนเชื่อว่าอาจเกิดขึ้น (they believe should happen) แต่ต้องการเพียงสิ่งที่คนคิดว่าอาจสามารถเกิดขึ้นได้ (they think could happen) โดยการสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตควรใช้เมื่อผู้คนเห็นว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถยอมรับได้ (unacceptable) ไม่มีเสถียรภาพ (unstable) หรือ ไม่ยั่งยืน (unsustainable) หรือผู้คนเห็นว่าตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง หรือเพียงการร่วมทำงานกับเพื่อนๆ ได้


เปลี่ยนตนเอง ก่อนที่จะเปลี่ยนโลก


ผู้เขียนชี้ว่าผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการนี้สามารถเปลี่ยนผ่านตนเองใน 4 ทางหลัก คือ


1. เปลี่ยนผ่านความเข้าใจของตนเอง (understanding) ผ่านการสังเคราะห์เรื่องราวภาพรวมของเหตุการณ์จากหลายมุมมองที่กำลังเกิดขึ้น และสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตทั้งหมด เราจะเห็นเหตุการณ์ บทบาทของตนเองและของกลุ่มอื่นๆ ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป และเห็นถึงจุดร่วมพื้นฐานของความคิดที่แตกต่างกันได้


2. เปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relationships) ผ่านการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างภาพฉากทัศน์อนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความเห็นอกเห็นใจและความเชื่อใจต่อกันของกลุ่มต่างๆ รวมถึงเห็นความสามารถและความตั้งใจของคนกลุ่มต่างๆ


3. การเปลี่ยนผ่านความตั้งใจของตน (intentions) เมื่อเห็นเรื่องราวทั้งหมดและเชื่อในความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นจากกระบวนการแล้ว จะเริ่มมองเห็นถึงสิ่งที่สามารถทำได้และจะต้องทำ เพื่อทำให้สิ่งที่ต้องการร่วมกันเกิดขึ้นได้ในอนาคต


4. การเปลี่ยนผ่านการกระทำ (actions) ซึ่งจะเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์

หนังสือได้กล่าวถึง 5 ขั้นตอนหลักๆ ในกระบวนการสร้างภาพฉากทัศน์ในอนาคต คือ เริ่มจากขั้นแรก การสร้างทีมที่หลากหลายอันเป็นตัวแทนของระบบทั้งหมด ขั้นตอนที่สอง สังเกตสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ขั้นตอนที่สาม สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ขั้นตอนที่สี่ สำรวจค้นหาสิ่งที่เราสามารถทำได้และสิ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จ และขั้นสุดท้าย การดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบ (Act to Transform the System)


หนังสือให้น้ำหนักกับการอธิบายวิธีการและประสบการณ์ของ 5 ขั้นตอนดังกล่าวอย่างละเอียด ผู้ที่อ่านจะได้แรงบันดาลใจ และเห็นกระบวนการในการสร้างทางออก ไม่ว่าจะเป็นสำหรับในองค์กร บริษัท โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ เมือง หรือแม้แต่ในระดับประเทศชาติ


กระบวนการสร้างฉากทัศน์อนาคต (Scenario Method) เป็นกระบวนการที่สนุกและน่าสนใจ ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดจะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนตนเอง เข้าใจผู้อื่น และร่วมกันสร้างอนาคต และเมื่อนั้นเราจะเปลี่ยนโลกร่วมกันได้

 
 
 

Comments


ThailandFuture (สถาบันอนาคตไทยศึกษา)

เลขที่ 104 ซอย 31 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ

เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

Copyright © 2017-2023 Thailand Future Foundation. All Rights Reserved.

bottom of page