โทนี่ ชวาตซ์ ผู้เขียนหนังสือ The Way We're Working Isn't Working (2011) ได้ริเริ่มเว็บไซต์ส่วนตัวแห่งหนึ่งชื่อ “The Energy Project” (http://theenergyproject.com/) เพื่อเป็นสื่อเผยแพร่หนังสือ ข้อมูลข่าวสารและการฝึกอบรมของเขา สโลแกนของเว็บไซต์เขียนไว้ว่า “Energizing People, Transforming Companies”
หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์สำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างใหญ่หลวง โดยหลักใหญ่ใจความน่าจะสรุปได้ด้วยคำว่า “Energy” ซึ่งหมายถึงพลังงานในตัวของมนุษย์แต่ละคน พลังงานของมนุษย์เป็นพลังงานในลักษณะ “พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy) ด้วยมุมมองที่วางอยู่บนพื้นฐานงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนเน้นย้ำในหลายที่ว่าคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในการทำงานผิดวิธี
คนเรามักทำงานแบบคิดว่ามนุษย์เป็นเครื่องจักรกล เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังรับเอาวิธีคิดหรือ Mindset แบบเครื่องจักรกล อันตกค้างมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและกลศาสตร์แบบนิวตันมาใช้โดยทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ปัจจุบัน เมื่อคอมพิวเตอร์พัฒนาขึ้น ก็ไปนำคอมพิวเตอร์มาเป็นต้นแบบในการทำงานอีก
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่เครื่องจักร ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ วิธีการทำงานของตัวมนุษย์จึงต้องมีวิธีที่แตกต่างไปจากเครื่องจักร สามารถแบ่งมิติของมนุษย์เป็น 4 มิติหลักๆ คือ
มิติแรก ร่างกาย (Body) ร่างกายมีความต้องการการใช้พลังงานและพักผ่อนหมุนเวียนกันไป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีพลังงานอย่างยั่งยืน ร่างกายมนุษย์จำเป็นต้อง “ชาร์จพลังงาน” อย่างสม่ำเสมอ ผ่านการออกกาลังกาย ทานอาหาร งีบหลับ และนอนหลับอย่างเพียงพอ
มิติที่สอง อารมณ์ (Emotions) เป็นอีกมิติที่ซับซ้อนของมนุษย์ ในมิติด้านอารมณ์นี้ มนุษย์มีเป้าหมายที่ต้องการความมั่นคงทางอารมณ์ ต้องการความรู้สึกได้รับความรัก ความเคารพ ความใส่ใจ หากมนุษย์รู้สึกถึงความมั่นคงทางอารมณ์ เขาจะทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม แต่หากเขาไม่มั่นคง เขาจะปรับตัวเขาสู่โหมดการเอาตัวรอด จะผลิตผลงานออกมาลวกๆ ไร้คุณภาพ
มิติทีสาม จิตใจ (Mind) โทนี่ เห็นว่ามิติด้านจิตใจของมนุษย์ ต้องการเสรีภาพในการเปิดเผยตนเอง (Self-expression) ต้องการเสรีภาพในการสนทนา สื่อสาร เปิดเผยความคิดเห็นและความรู้สึกต่างๆ
มิติที่สี่ จิตวิญญาณ (Spirit) เป้าหมายของมนุษย์ในเชิงจิตวิญญาณ คือ การเข้าถึงความสำคัญ (Significance) การหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต การหาความหมายในงานที่ตนทำ และค้นหา “ภารกิจ”ส่วนตนสำหรับชีวิตหนึ่งชีวิตนี้
เพื่อตอบสนอง 4 มิติหลักๆ ของชีวิตมนุษย์ จึงได้มีข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ
มิติด้านร่างกาย
ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมาให้นอนในตอนกลางคืนให้เพียงพอ แต่คนเรากลับพยายามบีบเวลานอนให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อเอามาทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ตรงกันว่าการอดนอนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ความสามารถในการคิด การเรียนรู้ และการตัดสินใจลดลง
นอกจากการนอนหลับแล้ว การผ่อนคลายอย่างเป็นจังหวะตลอดวันก็เป็นสิ่งที่สำคัญและคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดในเรื่องนี้ เพราะหลายคนโหมทำงานโดยไม่หยุดหย่อน แทนที่จะพักเป็นระยะๆ ร่างกายมนุษย์ทำงานเป็นจังหวะ มีจังหวะใช้พลังงานสูง ที่ต้องสลับกับจังหวะผ่อนพัก
หนังสือได้แนะนำให้ทำงานหนึ่งๆ อย่างโฟกัสจริงจังในช่วงเวลา 90 นาทีต่อเนื่อง โดยไม่ถูกขัดจังหวะใดๆ หลังจากนั้นก็พักผ่อนสักครึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านั้น เพื่อรีชาร์จพลังงานใหม่ให้กับตนเอง ผู้เขียนยกตัวอย่างตนเองจากประสบการณ์ในการเขียนหนังสือเล่มอื่นๆ ของตนเอง แต่ก่อนเขานั่งทำงานเขียนตลอดวันอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาปีกว่าๆ จึงได้หนังสือออกมาเล่มหนึ่ง เมื่อเขาเปลี่ยนมาใช้การทำงานอย่างมีจังหวะ หนักสลับเบา เขากลับพบว่าสามารถเขียนหนังสือดีๆ ออกมาได้ใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น
เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานอยู่เสมอ เราควรฝึกการหายใจลึกๆ และการนั่งสมาธิเพื่อช่วยคืนความสมดุลให้กับชีวิต ควรหยุดพักผ่อนประจาปี เพื่อช่วยให้งานสดใหม่และมีคุณภาพสูงขึ้น ควรออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย และควรทานอาหารที่มีคุณภาพโดยเฉพาะมื้อเช้าที่เป็นมื้อที่สำคัญที่สุด
มิติด้านอารมณ์
มนุษย์ที่ทำงานได้ดีจะอยู่มีลักษณะสงบ มองโลกในแง่ดี ท้าทาย มีส่วนร่วม และกระปี้กระเปร่า ซึ่งเรียกว่าอยู่ใน “โหมด Performance” ในขณะที่ หากมนุษย์อยู่ในโหมดอื่นๆ โดยเฉพาะ “โหมด Survival” การเอาตัวรอด หรือ “โหมด Burnout” หมดแรงหมดกำลังใจในการทำงาน จะทำให้ผลงานออกมาไร้คุณภาพ ในโหมดเอาตัวรอดนั้น คนเราจะมีลักษณะใจร้อน อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธ ปกป้องตนเอง กลัว ลังเลและกังวล อารมณ์เหล่านี้ทำให้ผลงานดีไม่ได้แน่ๆ
คนเราทำงานดีที่สุดเมื่อเรา “Flow” เหมือนเล่มเกมหรือเล่นกีฬา ซึ่งการเข้าสู่ภาวะ Flow นั้น ความท้าทายของงานกับความสามารถของเราจะต้องสมดุลกัน และค่อยๆ เพิ่มความท้าทายขึ้นไปทีละนิดพร้อมๆกับความสามารถของเราที่พัฒนาขึ้น
มิติด้านจิตใจ
การตั้งใจและความสามารถในการโฟกัสกับงานทีละงาน เป็นกุญแจสำคัญของการเป็นผู้ยอดเยี่ยมในการทำงาน การมีความสงบทั้งจากการถูกรบกวนจากภายนอกและการรบกวนจากภายในจิตใจของตนเองเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำงาน
การเคลียร์ภายในจิตใจให้ว่าง โดยการจดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาไว้ที่สมุดให้หมด การทำอะไรช้าๆ การฝึกสมาธิ การเจริญสติภาวนา จะช่วยบ่มเพาะความสามารถในการเข้าถึงความสงบรำงับได้ในทันทีที่ต้องการ
นอกจากนี้ เราควรคิดโดยใช้สมองทั้ง 2 ซีกอย่างสมดุล โดยซีกซ้ายเน้นตรรกะ วิเคราะห์ ตัวอักษร การคิดวิเคราะห์ ในขณะที่ซีกขวา เน้นภาพใหญ่ สังเคราะห์ ภาพวาด การคิดสร้างสรรค์ จะช่วยให้งานของเราดีขึ้น โดยสถานที่ทำงาน ควรออกแบบให้มีความสมดุลระหว่างพื้นที่เปิด พื้นที่ทำงานส่วนตัว และพื้นที่สำหรับพักผ่อน
มิติด้านจิตวิญญาณ
เราทุกคนจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อเราเห็นว่างานที่เรากำลังทำอยู่นั้นสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา เราจึงควรทบทวนเป้าหมายและคุณค่าของเราอย่างสม่ำเสมอ ว่างานที่ทำอยู่ตอบสนองคุณค่าและเป้าหมายของเราหรือไม่
หากเลือกได้ ควรทำงานที่รักมากกว่าทำงานกับสิ่งที่เกลียด โดยเราจะรู้สึกเต็มอิ่ม หรือเติมเต็มได้ก็ต่อเมื่อเราได้ทำงานตามความปรารถนาส่วนลึกอย่างแท้จริงเมื่อเราทำงานตาม passion อย่างจริงจัง งานที่ออกมาจะมีคุณภาพสูง และสุดท้ายผลตอบแทนต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินจึงตามมา
เป้าหมายการทำงานขั้นสูง ควรเป็นเป้าหมายที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ควรเป็นเป้าหมายเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่และคงทนกว่าชีวิตสั้นๆ ของเรา
หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์และทำให้เห็นภาพอย่างเป็นองค์รวมของชีวิตในการทำงาน ช่วยให้คนทำงานรู้จักบริหารจัดการ “พลังงาน” ภายในตัวเองอย่างเข้าใจสามารถทำงานคุณภาพดีและมีชีวิตที่มีความสุข
Comments