top of page
Search

2,000 Watt Society: ความยั่งยืนของเยอรมนี

ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป จึงใช้ทรัพยากรและพลังงานมาก อย่างไรก็ตาม ประเทศเยอรมนีกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรต่ำ ก่อมลพิษต่ำ เยอรมนีตั้งเป้าว่าจะลดการใช้พลังงานต่อหัวประชากรเหลือเพียง 2,000 วัตต์เท่านั้น พลังงานเท่านี้คือพลังงานเพียง 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานต่อหัวประชากรของยุโรปเท่านั้น





เรามาดูกันว่าประเทศใหญ่อย่างเยอรมนีจะทำได้อย่างไร


ยุทธศาสตร์หลักของการพัฒนาของเยอรมนีอันเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวใหญ่ของประเทศ คือยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ (National Strategy for Sustainable Development: NSSD) ยุทธศาสตร์ประกอบด้วยแนวทางสู่ความยั่งยืน 4 ประการที่สำคัญ คือ คุณภาพชีวิต ความเท่าเทียมของประชาชนในปัจจุบันกับคนรุ่นต่อไป ความสมานฉันท์ทางสังคม และความรับผิดชอบต่อชุมชนระหว่างประเทศ


เป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติเน้นเพิ่มผลิตภาพการใช้พลังงาน (ปีฐาน 1990) และผลิตภาพการใช้ทรัพยากร (ปีฐาน 1994) ให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2020 และได้บูรณาการแผนงานด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศเข้ากับยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนให้เป็นร้อยละ 30 ของพลังงานไฟฟ้าและร้อยละ 10 ของพลังงานขั้นต้น และการประหยัดพลังงานทุกสาขาโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานโดยมุ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 40 ในปี 2020


ประเทศเยอรมนียังได้วางวิสัยทัศน์สู่ “สังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร” โดยได้แนวความคิดมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากเยอรมนีเห็นว่าสังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากรเป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะได้รวบรวมวิสัยทัศน์ด้านประสิทธิภาพของพลังงานเข้ากับด้านประสิทธิภาพของวัสดุ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวได้ถกเถียงกันอย่างมากในเยอรมนี โดยพลังงาน 2,000 วัตต์ต่อประชากร เทียบเท่ากับ 65 จิกะจูลต่อประชากร (GJ per capita) ซึ่งเป็นระดับหนึ่งในสามของการใช้พลังงานต่อประชากรของยุโรป



โลกบริโภคพลังงานเฉลี่ยเมื่อสองทศวรรษที่แล้วเท่ากับ 70 จิกะจูลต่อประชากร ดังนั้น การมุ่งสู่เป็นสังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร หรือ 65 จิกะจูลต่อประชากรจะสามารถทำให้ระบบพลังงานของโลกยั่งยืนเหมือนกลับไปใช้พลังงานในระดับ 20 ปีที่แล้วในขณะที่สามารถรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้




เงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญก่อนที่จะทำให้สังคมก้าวไปสู่สังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร คือ การมุ่งเพิ่มผลิตภาพการใช้พลังงานและผลิตภาพของวัสดุ การเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรมให้ส่งเสริมผลิตภาพด้านพลังงานและวัสดุ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในรูปแบบการบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืนขึ้น


วิสัยทัศน์เพื่อเข้าสู่สังคมที่ใช้พลังงานที่ยั่งยืนได้รับความสนใจและมีความพยายามปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้น เยอรมนีมีฐานข้อมูลที่ละเอียดและมีภาพสถานการณ์ที่พร้อมใช้ ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่ดีด้านการวิจัยเพื่อรองรับการบูรณาการยุทธศาสตร์ คือ กระทรวงพลังงานของเยอรมนีและสถาบันพลังงานแห่งเยอรมนีได้มีโครงการวิจัย 4 ปีในเรื่องประสิทธิภาพวัสดุและการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยร่วมกับเครือข่ายสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย อุตสาหกรรม จำนวน 30 แห่ง โดยเหตุผลหลักของแผนงานนี้คือการมุ่งบูรณาการ 3 ประเด็นคือ


บูรณาการยุทธศาสตร์ คือ การสร้างตลาดที่ยั่งยืน การสร้างสถาบันและเครือข่ายที่แข็งแกร่งเพื่อแพร่กระจายเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนโดยใช้แนวคิดจากอู่สู่อู่ (Cradle to Cradle approach) การใช้พลังทางการตลาดของภาครัฐ การสร้างแนวคิดใหม่ผ่านการศึกษาและฝึกอบรม เช่น แนวคิดมหาวิทยาลัยด้านทรัพยากร


บูรณาการนโยบายรายสาขา บูรณาการเป้าหมายเชิงนโยบายของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงวิทยาศาสตร์และการศึกษา กระทรวงการขนส่งและอาคาร และกระทรวงทรัพยากรที่ควรมีความร่วมมือกัน


บูรณาการเทคโนโลยีและวัฏจักรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัสดุและพลังงาน


UNEP ได้สรุปบทเรียนของเยอรมนีความพยายามเข้าสู่สังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพว่า


“เยอรมนีถือเป็นตัวอย่างประเทศที่มีหลักฐานโดยประจักษ์ของการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรในระยะยาว ในลักษณะที่นำไปสู่ผลประโยชน์สุทธิให้ภาคเอกชน สร้างธุรกิจและงานใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความตึงเครียดทางสังคมจากการใช้ทรัพยากร”

บทเรียนที่สำคัญคือความพยายามลดการใช้พลังงานลงมาก ในขณะที่ยังพยายามรักษาเศรษฐกิจให้เติบโตไปด้วยกัน โดยพยายามให้เกิดสถานการณ์ win-win ให้ได้โดยไม่ยอมแลกสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้เป้าหมายหนึ่ง หากทำได้จะช่วยลดความขัดแย้งทางสังคมได้อย่างดี


607 views0 comments
bottom of page