top of page
Search

Creative City: สร้างแบรนด์เมืองแห่งอนาคต

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่งดงาม นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นมากถึง 35-40 ล้านคนต่อปี เทียบเท่าประชากรครึ่งหนึ่งของคนไทยทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวไม่กี่เมือง เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา


รัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว จึงได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้นักท่องเที่ยวกระจายตัวออกไป รวมทั้งมีมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของคนในประเทศ เพื่อช่วยกระจายนักท่องเที่ยวและสร้างเศรษฐกิจให้เมืองรองพัฒนาขึ้น ส่วนการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กระจายไปเมืองรองจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์และการวางตำแหน่งของเมืองที่ชัดเจนและมีเสน่ห์เพียงพอ



ค้นหาอัตลักษณ์ของเมือง สู่การเป็นเมืองน่าอยู่ เปิดกว้าง และสร้างสรรค์


ในที่ประชุมของเมือง ผู้นำและนักพัฒนาเมืองต่างกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของเมือง เพื่อนำมาสร้างเมืองให้น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นจากทบทวนทุนของเมืองเดิมที่มีอยู่ เช่น ผู้คน ศิลปะ วัฒนธรรม ภูเขา ทะเล น้ำตก วัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์ สินค้าท้องถิ่น ภูมิปัญญา ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ


บางจังหวัดมีทุนที่ดี สามารถต่อยอดได้ไม่ยากนัก แต่บางจังหวัดยังรู้สึกว่าทุนที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอดึงดูดการท่องเที่ยว ส่งผลเป็นวงจรที่ทำให้เศรษฐกิจของเมืองไม่เจริญเติบโตนัก เพราะขาดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุนภายนอกเข้ามาช่วยจับจ่ายใช้สอยในเมือง


หากเมืองต้องการเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว ต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างจุดขายของเมืองเป็นสิ่งสำคัญ จุดขายหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเมืองต่างๆ ในประเทศไทยประการหนึ่ง คือ การสร้างเมืองให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ในด้านใดด้านหนึ่งที่ตนเองมีจุดเด่น


และหากเมืองแต่ละแห่งต้องการได้รับการยอมรับในระดับโลก ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานหลักที่ให้การรับรอง โดยปัจจุบัน หน่วยงาน UNESCO เป็นหน่วยงานหลักในการรับรองเมืองสร้างสรรค์


เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative Cities Network ของ UNESCO ประกอบด้วยสมาชิก 180 เมืองจาก 72 ประเทศครอบคลุมความสร้างสรรค์ 7 ด้านได้แก่ งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts & Folk Art) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) วิทยาการด้านอาหาร (Gastronomy) วรรณคดี (Literature) ดนตรี (Music) ศิลปะสื่อ (Media art)



เมืองสร้างสรรค์ระดับโลก


ที่ผ่านมา มีหลายเมืองในต่างประเทศ ที่ใช้ตรารับรองการเป็นเมืองสร้างสรรค์เพื่อสร้างความโดดเด่นของเมืองในเวทีโลก เช่น


เมืองซานตาเฟ (Santa Fe) เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านศิลปะพื้นบ้านและการออกแบบ ได้พัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เฉพาะเจาะจงกับจุดเด่นของเมืองออกมา


เมืองเอดินเบอะระ (Edinburgh) ได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรม สร้างรายได้เกือบ 5 ล้านยูโรต่อปี เมืองได้เน้นการพัฒนาประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม รวมถึงเหตุการณ์ทางวรรณกรรมเป็นสำคัญ


เมืองกลาสโกว์ (Glasgow) ได้รับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ได้พัฒนาเทศกาลดนตรีซึ่งดึงดูดผู้ชมกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สร้างรายได้โดยประมาณ 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้รับรางวัล Music of Black Origin (MOBO)


เมืองกราซ (Graz) เป็นเมืองแห่งหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมของออสเตรีย ได้รับเลือกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ช่วยให้มีการเข้ามาของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10% อย่างรวดเร็ว เมืองนี้ส่งเสริมด้านการออกแบบและทัวร์งานสถาปัตยกรรม


Image Credit: http://www.tongyeong.go.kr/eng.web

เมืองทงยอง เกาหลีใต้ เป็นเมืองที่มีความโดดเด่นเรื่องการแสดงทางดนตรีเป็นพื้นฐาน ได้ใช้กลยุทธ์เพื่อยกระดับให้เป็นเมืองที่น่าสนใจ ด้วยการขอจดทะเบียนและได้รับการประกาศเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี จาก UNESCO เมืองทงยองสามารถใช้แบรนด์และโลโก้ของ UNESCO เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาร่วมงานการแสดงทางดนตรี “Tongyeong International Music Festival” ที่มีชื่อเสียงมากของเมือง


คานาซาวะ เมืองสร้างสรรค์ด้านงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้าน


คุณ Hiroyuki Shimbo ผู้จัดการฝ่ายวางแผนนโยบายและความร่วมมือเมืองคานาซะวะ ญี่ปุ่น เมืองสร้างสรรค์ด้านงานฝีมือและศิลปะ ให้สัมภาษณ์อย่างน่าสนใจว่า คานาซาวะได้ให้ความสำคัญกับงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้านที่มีมายาวนานกว่า 400 ปี งานหัตถกรรมที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมช่วยเสริมรากเหง้าทางวัฒนธรรมให้กับชีวิตของคนเมืองคานาซาวะ สร้างทักษะและความรู้สึกต่อความงาม คานาซาวะได้เป็นเมืองแห่งงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้านในปีพ.ศ. 2552 จึงได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนกับหลายๆ เมืองทั้งในและต่างประเทศ ช่วยให้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ คุณค่าของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มคุณค่าของเมือง


โครงการ "Kanazawa Creative City Steering Program" จัดขึ้นเพื่อโปรโมทโครงการในเมืองสร้างสรรค์โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นคือ การเชื่อมโยงวัฒนธรรมและธุรกิจ การผลิตผู้สืบทอดความคิดสร้างสรรค์ และการดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศ และยังเริ่มโครงการส่งช่างฝีมือรุ่นเยาว์ไปยังเมืองสร้างสรรค์อื่นๆ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ทำให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับศิลปินท้องถิ่น ผู้ซื้อและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และตั้งชื่อโปรแกรม "Creative Waltz" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเยอรมนี



จอนจู เมืองสร้างสรรค์ด้านศาสตร์อาหาร


คุณ Rak-Ki Choi หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรมดั้งเดิมของเมืองจอนจู เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร (Gastronomy) กล่าวไว้ว่า ภายหลังเมืองจอนจูได้รับการยอมรับเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาการอาหาร (Gastronomy) โดย UNESCO เมืองจอนจูได้รับการร้องขอให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์หนังสือพิมพ์วิทยุและสื่ออื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยความสนใจอย่างมาก จอนจูประสบความสำเร็จในการเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางวิทยาการด้านอาหารทำให้สามารถสร้างแบรนด์ของเมืองและการรับรู้เมืองได้สำเร็จ


จอนจูมีส่วนร่วมกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้วยการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างเมืองสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาการอาหาร นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่หลากหลายร่วมกัน เช่น การทำอาหาร ดนตรี งานฝีมือ ภาพยนตร์ วรรณคดี ฯลฯ จอนจูได้สร้างระบบสหกรณ์ร่วมกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในสาขาอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่อไป


โกเบ เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ


คุณ Takahito Saiki ผู้บริหารเมืองโกเบ เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ กล่าวว่า การได้รับการยอมรับเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบทำให้โกเบมีชื่อเสียงด้านการสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสในการแบ่งปันคุณค่คาเหล่านี้กับประชาชนของโกเบ ซึ่งเป็นแหล่งความภาคภูมิใจที่สำคัญ


โกเบได้ปรับปรุงโรงงานตรวจสอบผ้าไหมดิบเป็นศูนย์กลางในการริเริ่ม "Design City KOBE" ซึ่งเปิดใหม่ในชื่อ Design and Creative Center Kobe (KIITO) ที่นี่ผู้คนมีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ และยังใช้ศูนย์นี้เป็นสถานที่ในการแก้ปัญหาทางสังคมด้วยพลังของการออกแบบ ด้วยวิธีนี้ KIITO ส่งเสริมการพัฒนาและการสะสมทุนมนุษย์สร้างสรรค์ ช่วยกันแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นรวมถึงมีส่วนร่วมในการแบ่งปันแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางสังคมต่างๆ ทั่วโลก


Image Credit: https://blog.gaijinpot.com/just-japan-podcast-kobe-earthquake-20-years-later/

เมลเบิร์น เมืองสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรม


คุณ Hon Heidi ผู้บริหารเมืองเมลเบิร์น เมืองสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรม กล่าวว่า วรรณกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเมลเบิร์น เมื่อเมืองเมลเบิร์นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ การได้รับการรับรองเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมระดับนานาชาติได้ช่วยสนับสนุนภาคการประพันธ์และทำให้รัฐบาลและเอกชนมีกรอบการทำงานและมีแบรนด์ที่ชัดเจน


ปี 2010 ได้เปิดตัว The Wheeler Center ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญของการเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมของเมลเบิร์น สถาบันวัฒนธรรมแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมเฉพาะแห่งของออสเตรเลียที่ทุ่มเทให้กับการอภิปรายและฝึกอ่านหนังสือและการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของโลก เป็นสถานที่จัดงานวรรณกรรมมากกว่า 1,000 งานและมีผู้จัดงานกว่า 500 คนในแต่ละปี


รัฐบาลได้ส่งเสริมโครงการรางวัลวรรณกรรมประจำปีและเพิ่มการสนับสนุนนักเขียนด้วยการสร้างรางวัลวรรณกรรมวิคตอเรีย ซึ่งเป็นรางวัลวรรณกรรมที่ดีที่สุดของออสเตรเลีย ผู้อ่านและนักเขียนมีความสุขกับโครงการโดยมีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การได้รับการยอมรับจากเมลเบิร์นจากยูเนสโก ถือได้ว่าเป็นผลสำเร็จในตัวของมันเอง และในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผลประโยชน์ของเมืองสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรมจะยังคงไหลเวียนผ่านเมืองตลอดเวลา



Image Credit: http://www.ohhappybear.com/2018/04/10/phuket-thailand-unesco-city-of-gastronomy/

ภูเก็ตและเชียงใหม่ก็เป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก


สำหรับประเทศไทย องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เทศบาลนครภูเก็ตเป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร (Phuket City of Gastronomy) ประจำปีพ.ศ 2558 ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ อาหารทะเลอันดามัน อาหารไทย อาหารบาบ๋าท้องถิ่น และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป รวมทั้งได้มีการสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานการอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น คำนึงถึงการวิจัยพัฒนา ภูเก็ตยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ศูนย์การประชุมนานาชาติ ศูนย์ ฝึกอบรมด้านอาหาร และศูนย์วิจัย สถาบันการศึกษาระดับสูงที่เปิดสอนด้านวิทยาการอาหาร มีความพร้อมในการแลกเปลี่ยนและเอื้อประโยชน์ให้แก่เมืองเครือข่ายอื่นๆ ของยูเนสโก นอกจากนี้


เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เชียงใหม่ก็ประสบความสำเร็จจากการได้รับมอบหมายให้เป็นเครือข่ายสร้างสรรค์เมืองสร้างสรรค์และสร้างสรรค์ด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts & Folk Art)


จะดีแค่ไหน หากเมืองต่างๆ ของไทยโดยเฉพาะเมืองรองที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายสามารถเข้าไปเชื่อมต่อกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก ทั้งในด้านอาหาร วรรณกรรม งานศิลปะ งานฝีมือ และอื่นๆ ซึ่งเมืองไทยมีความรุ่มรวยเป็นอย่างมาก


การมีวิสัยทัศน์ที่ดีของผู้คนในเมือง การร่วมมือกันบริหารจัดการ และการใช้แพลตฟอร์มของ UNESCO จะช่วยยกระดับเมืองขึ้นและเข้าไปอยู่ในหมุดหมายที่สำคัญในระดับโลก และมีตำแหน่งหรือแบรนด์ที่ชัดเจน ทำให้นำไปต่อยอดในด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย


สุดท้ายผลลัพธ์จะส่งกลับมาที่เศรษฐกิจของท้องถิ่นช่วยให้ประชาชนมีงานและความภาคภูมิใจในเมืองของตน และสามารถส่งมอบสิ่งดีๆ ศิลปะดีๆ ความสร้างสรรค์ดีๆ ให้ชาวโลกได้ชื่อชมร่วมกันกับเรา




[ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://en.unesco.org/creative-cities/home]


34 views0 comments
bottom of page