Change by Design By Tim Brown
หนังสือ Change By Design เล่มนี้ ควบคู่กับหนังสือ The Art of Innovation เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เปิดโลกของ Design Thinking ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งช่วยให้วงการต่างๆ เปลี่ยนมุมมองในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ จากเดิมที่ออกแบบโดยเน้นรูปลักษณ์ภายนอก มาสู่การออกแบบโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
วิธีคิดเชิงออกแบบยังนำไปใช้ในวงการอื่นๆ รวมถึงการให้บริการภาครัฐและการแก้ไขปัญหาสังคม ที่มีการใช้เทคนิควิธีการของวิธีคิดเชิงออกแบบมาปรับเปลี่ยนบริการให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น (หนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทย แปลโดยคุณนุจรี นาคเจริญวารี สำนักพิมพ์มติชน)
การคิดเชิงออกแบบเป็นทักษะในการค้นหาความต้องการของมนุษย์ กับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อจับคู่กันภายในข้อจำกัดทางธุรกิจ สาเหตุที่การออกแบบมีความสำคัญมากขึ้น เกิดจากการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจที่ย้ายจากการผลิตเชิงอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการ นวัตกรรมสำหรับภาคบริการทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งกระบวนการ บริการ ปฏิสัมพันธ์ รูปแบบความบันเทิง วิธีการติดต่อและความร่วมมือ โดยการคิดเชิงออกแบบจึงกลายเป็นวิธีคิดสำหรับทุกคน ไม่ใช่เพียงนักออกแบบเท่านั้น
นวัตกรรมเป็นระบบที่มีพื้นที่ทับซ้อนกัน 3 ส่วน พื้นที่แรก คือ แรงบันดาลใจ ซึ่งคือ ปัญหาหรือโอกาสที่จะกระตุ้นให้ค้นหาวิธีแก้ไขปัญหา พื้นที่การสร้างความคิด เป็นกระบวนการของการสร้าง พัฒนา และทดสอบความคิด และพื้นที่การทำให้สำเร็จ ซึ่งเป็นกระบวนการจากห้องโครงการ สู่ท้องตลาด
เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส
การคิดเชิงออกแบบเริ่มต้นจากการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโครงการ กำหนดโจทย์ที่ต้องการแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ แล้วระดมทีมงานที่หลักแหลมเน้นการข้ามเส้นแบ่งทางสาขาอาชีพ ทีมงานควรเป็นคนที่มีลักษณะแบบตัว T คือรู้ลึกในด้านใดด้านหนึ่ง และมีความรู้กว้างเพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดความร่วมมือกันได้
นอกจากนี้ ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมให้เหมาะแก่การสร้างนวัตกรรม เช่นพื้นที่อยู่ร่วมกัน แต่ก็มีความเป็นส่วนตัวระดับหนึ่ง การสร้างวัฒนธรรมแบบขอโทษทีหลัง ดีกว่าต้องขออนุญาตก่อนทำ รวมถึงการให้รางวัลเมื่อสำเร็จ แต่ถ้าล้มเหลวก็ไม่เป็นไร และการเล่นอย่างจริงจัง เพื่อกระตุ้นความสร้างสรรค์ ธรรมชาติของการคิดเชิงออกแบบเป็นการทดลองและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความยืดหยุ่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
เข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
หัวใจสำคัญของการคิดเชิงออกแบบคือการเข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง บางครั้งเป็นความต้องการซ่อนเร้นที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ การสร้างความเข้าใจอาจเริ่มจากการออกไปดูโลกภายนอก มองผู้คนต่างๆ ว่าพวกเขาดำเนินชีวิตกันอย่างไร มีการกระทำหลายอย่างที่ทำไปโดยอัตโนมัติ เช่น คนดูแลร้านค้า ใช้ค้อนเป็นที่กั้นประตูให้เปิดค้างไว้ พนักงานที่ติดป้ายเพื่อต้องการแยกสายคอมพิวเตอร์ที่ยุ่งเหยิงใต้โต๊ะ ซึ่งทำให้เห็นโอกาสการสร้างผลิตภัณฑ์หรือประสบการณ์ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ควรสังเกตสิ่งที่คนไม่ได้ทำ และฟังในสิ่งที่คนไม่ได้พูดด้วย เช่น เด็กที่ใช้ที่เปิดกระป๋องได้ไม่ถนัด หรือใช้วิธีทางมานุษยวิทยา เช่น ค้างคืนกับชาวบ้าน หรือทำตัวเป็นผู้ป่วยใช้บริการโรงพยาบาล ฯลฯ เพื่อเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่นๆ ได้รับประสบการณ์ในอีกมุมมองหนึ่ง จะทำให้พบเห็นโอกาสมากมายที่จะทำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มอบประสบการณ์ให้ชาวบ้านและผู้ป่วยดีขึ้นได้
ระดมสมองแล้วสร้างต้นแบบ
เมื่อได้โจทย์โครงการที่เหมาะสมแล้ว การคิดแก้ไขปัญหาสามารถใช้วิธีการระดมสมองอย่างสร้างสรรค์ หลักการสำคัญคืออย่าเพิ่งด่วนตัดสินความคิด รู้จักฟังอย่างแท้จริง กระตุ้นความคิดแปลกใหม่ คิดเป็นภาพ เล่าเรื่องกัน และยอมรับความคิดที่ตรงข้ามได้
เมื่อได้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีแล้ว ลำดับต่อไปคือการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทางออกเห็นเป็นรูปธรรม แล้วนำไปทดสอบ นำกลับมาปรับปรุงซ้ำ จนได้ต้นแบบที่ดีที่สุด แล้วนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาดต่อไป
นอกจากนี้ การคิดเชิงออกแบบยังถูกนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมได้มากมายโดยผู้ประกอบการทางสังคม เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน การเข้าถึงบริการการศึกษาและสุขภาพที่ดีขึ้น การประหยัดพลังงาน การช่วยเหลือผู้สูงอายุ เป็นต้น
ในปัจจุบัน มีกรณีตัวอย่างมากมายที่ใช้วิธีคิดเชิงออกแบบมาใช้ประโยชน์ หลายองค์กรนำความคิดเชิงออกแบบไปใช้ในการออกแบบสินค้า บริการ นวัตกรรมทางสังคม รวมถึงบริการภาครัฐ หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความหวัง และมอบเครื่องมือดีๆ ที่จะเปลี่ยนปัญหา เป็นทางออกและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์กับมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
Comments