top of page
Search

Future of GDP: ความสุขและชีวิตที่ดี

ตัวชี้วัดหลักเพื่อวัดความก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถือเป็นเครื่องมือชี้วัดมูลค่าทางตัวเงินของสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศ ผู้ดำเนินนโยบายประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับขนาดและการเจริญเติบโตของ GDP เพราะเชื่อว่าเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และอนุมานว่าสามารถบ่งชี้ความสำเร็จของสังคมและความก้าวหน้าของการพัฒนาประเทศได้




ข้อจำกัดของ GDP ที่เป็นที่รับรู้ทั่วไปคือเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตส่วนบุคคลที่ดี และไม่สามารถชี้วัดความอยู่ดีมีสุขของประเทศได้แท้จริงได้ เหตุผลสำคัญก็คือ การมุ่งเน้นที่การผลิตหรือการบริโภคหรือรายได้เพียงอย่างเดียว ที่แต่ละประเทศมุ่งหวังจะให้ประเทศมีเศรษฐกิจขยายตัว มี GDP สูงนั้น ในบางครั้ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมได้สร้างความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ให้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคม


GDP มักไม่ได้รวมต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางธรรมชาติเข้าไปเพื่อการคำนวณ การที่เหล้าบุหรี่ขายได้มากขึ้นช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะดีขึ้น การที่ผู้คนในประเทศตัดไม้ทำลายป่านำออกขายก็ช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ อีกทั้งการที่ GDP เพิ่มก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจะมีรายได้ที่ดีขึ้น หรือการที่คนส่วนใหญ่มีรายได้ดีขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะมีความสุขมากขึ้น


ตัวอย่างต่างๆ ข้างต้นเป็นที่มา ที่ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาสนใจการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้เกิดขึ้นแทนที่จะพัฒนาแต่การเพิ่ม GDP เพียงด้านเดียว


จาก GDP สู่ GNH


Gross National Happiness หรือความสุขมวลรวมประชาชาติได้รับการพัฒนาจากประเทศภูฏานเป็นประเทศแรก ความแตกต่างของ GNH กับ GDP คือ GNH ให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรม และการกำกับดูแลที่ดี


GNH ยังประกอบด้วย 9 โดเมน คือจิตใจที่ดี สุขภาพ การใช้เวลา การศึกษา ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความยืดหยุ่น การกำกับดูแลที่ดี ความมีชีวิตชีวาของชุมชน ความหลากหลายทางชีวภาพและความยืดหยุ่น และมาตรฐานการครองชีพ แต่ละโดเมนจะประกอบด้วยตัวชี้วัดที่ได้จะทำการสำรวจ แต่ละโดเมนให้น้ำหนักเท่ากันแล้วรวมเป็น GNH ในที่สุด


หน่วยงานในหลายประเทศได้นำ GNH ไปประยุกต์และปรับใช้ เช่น ในวิกตอเรีย บริติชโคลัมเบีย รัฐบาลท้องถิ่น มูลนิธิท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐบาลได้นำการสำรวจ GNH ฉบับย่อของภูฏาน เพื่อประเมินประชากรของวิกตอเรีย ในเซาเปาโล บราซิล Future Vision Ecological Park ใช้ GNH ของภูฏานสำรวจข้อมูลในระดับชุมชนในบางเมือง ที่ซีแอตเติล ใช้ GNH เพื่อประเมินความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีประชาชน เป็นต้น




จาก GDP สู่ National Wellbeing


นอกจาก GNH แล้ว รัฐบาลและสถาบันต่างๆ ทั่วโลกให้ได้ให้ความสนใจกับการติดตามและประเมินความอยู่ดีมีสุข (Wellbeing) กันมากขึ้น ทั้งความอยู่ดีมีสุขในระดับบุคคล ระดับสังคม และระดับประเทศ

ความอยู่ดีมีสุข หรือ Wellbeing ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของวาระการประชุมเชิงนโยบายหลากหลายวาระ ตั้งแต่เรื่องการผนึกรวมทางสังคมไปจนถึงเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ (National wellbeing) กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้ตัดสินใจเชิงนโยบาย และพลเมืองเพื่อวัดความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาจจะเสริมหรือทดแทน GDP


สำหรับมาตรวัดความอยู่ดีมีสุขนี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนจากการมุ่งเน้น GDP ตามบัญชีประชาชาติ มาให้ความสำคัญกับการพิจารณาคุณภาพชีวิตของประชาชนเข้าไปด้วย

ประเด็นคำถามที่สำคัญ คือ เราจะวัดความอยู่ดีมีสุขของประเทศได้อย่างไร และเราจะนำผลจากการประเมินความอยู่ดีมีสุขนั้นมาออกแบบและประยุกต์ใช้ในนโยบายสาธารณะได้อย่างไร ความอยู่ดีมีสุข หรือ Wellbeing มีการให้คำนิยามที่แตกต่างกันไปโดยมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ใช้ รวมทั้งคุณภาพชีวิต สวัสดิภาพแต่ละบุคคล สุขภาพที่ดี ความสุข การมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือ ความพึงพอใจในชีวิต


คณะกรรมการการวัดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม (the Commission on the Measurement of Economic Performance and Social Progress หรือ the Stiglitz Commission) เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศสในปีค.ศ. 2008 ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่สาคัญ เช่น Josept Stiglitz และ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้แนะนำว่า ความอยู่ดีมีสุขของประเทศควรเป็นการวัดผลที่ครอบคลุม 8 องค์ประกอบหลัก


ได้แก่ มาตรฐานการดำรงชีวิตของประชากร (รายได้ รายจ่ายและความมั่งคั่ง) สุขภาพ การศึกษา กิจกรรมส่วนบุคคล (รวมถึงการทำงาน) การมีส่วนร่วมทางการเมืองและธรรมาภิบาล ความสัมพันธ์และการเชื่อมต่อทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความเปราะบางทั้งทางเศรษฐกิจและทางกายภาพ

การพัฒนาดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุขของระดับชาติและการจัดทำส่วนประกอบของดัชนีทั้งหมดเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ความท้าทายที่สำคัญคือการค้นหาว่าความอยู่ดีมีสุขหรือการมีชีวิตที่ดี มีอะไรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและควรให้น้ำหนักความสำคัญกับองค์ประกอบของดัชนีชี้วัดอย่างไร บางประเทศได้อาศัยความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพื่อระบุตัวชี้วัดสำคัญ ในขณะที่บางประเทศเปิดโอกาสให้นักการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น



National Wellbeing ของอังกฤษ


ประเทศอังกฤษ การวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ หรือ National Wellbeing เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องจากรัฐบาล โดย UK’s Office for National Statistics (ONS) หรือสำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษได้เริ่มพัฒนาตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษ ได้ถามคำถามเกี่ยวกับความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคล โดยบรรจุคำถามให้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจประชากรแห่งชาติประจำปี และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลสำรวจครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 ผลการสำรวจพบว่า สามในสี่ ของประชาชนได้จัดอันดับพึงพอใจในชีวิตของพวกเขาให้คะแนนเท่ากับ 7 หรือมากกว่าจากระดับคะแนนเต็ม 10 และมีประชาชนร้อยละ 80 ให้คะแนนอย่างน้อย 7 เมื่อถามว่าพวกเขารู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่งของคนว่างงานให้คะแนนน้อยกว่า 7


สำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษ ได้ปรึกษาทั้งผู้เชี่ยวชาญสาธารณะและนานาชาติเพื่อพัฒนาองค์ประกอบของมาตรวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ (national wellbeing measures) เพื่อระบุตัวชี้วัดนี้ประกอบด้วยกลุ่มการวัดปัจจัยที่มีอิทธิพล 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปัจจัยอิทธิพลโดยตรงที่กระทบต่อความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคลเชิงอัตวิสัย (subjective wellbeing) ได้แก่ ความสัมพันธ์ สุขภาพ สิ่งที่เราทา สถานที่เราอยู่ การเงินส่วนบุคคล การศึกษาและทักษะ และกลุ่มปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพล ได้แก่ ธรรมาภิบาล ระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษ ยังระบุถึงปัญหาของความเสมอภาค ความเป็นธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน


การสำรวจประชากรครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษแบบบูรณาการประจำปีของกลุ่มตัวอย่างประชากรขนาดใหญ่ (ผู้ใหญ่ อายุ 16 ขึ้นไป) จำนวน 165,000 คน การสำรวจจะสอบถามความคิดเห็น 4 คำถาม แล้วให้ผู้ตอบแบบสอบถามตอบโดยให้ระดับคะแนน 0-10 ระดับคะแนน 0 คือไม่อย่างสิ้นเชิง และระดับคะแนน 10 สมบูรณ์แบบ: คำถามมีดังนี้

· โดยรวมแล้ว คุณพอใจกับชีวิตของคุณในปัจจุบัน?

· โดยรวมแล้ว คุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำในชีวิตของคุณคุ้มค่า?

· โดยรวมแล้ว เมื่อวานนี้ คุณรู้สึกว่ามีความสุข?

· โดยรวมแล้ว เมื่อวานนี้ คุณรู้สึกกังวล?


คำถามของสำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษได้สอบถามข้อมูลในมิติที่ยอมรับกันโดยทั่วไปได้แก่ ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของอารมณ์เชิงบวกและลบ ความพึงพอใจกับชีวิตโดยรวม และชีวิตที่มีความหมายหรือมีเป้าหมายอย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาบางคนโต้แย้งว่าคำถาม 4 ข้อที่ได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนนั้นไม่เพียงพอที่จะนำมาจับภาพทุกด้านที่สำคัญอื่น ๆ ของชีวิตที่ดีนอกเหนือจากอารมณ์ได้


นักวิจัยได้พยายามเชื่อมโยงความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคลเชิงอัตวิสัย (subjective wellbeing) กับข้อมูลชุดอื่นๆ ที่จะระบุความสอดคล้องกับคุณลักษณะส่วนบุคคลและทักษะ ชีววิทยา ปัจจัยสถานการณ์ ปัจจัยสถาบัน ลักษณะทางประชากรศาสตร์ และการจ้างงานทางเศรษฐกิจ และปัจจัยแวดล้อม

การใช้มาตรวัดความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคลเชิงอัตวิสัย เพื่อเสนอเป็นนโยบายสาธารณะมีประโยชน์ในแง่ที่ว่าจะช่วยให้ประเทศสามารถกำหนดเป้าหมายทั้งพื้นที่หรือกลุ่มทางสังคม ทำให้การประเมินผลได้และต้นทุน ครอบคลุมมิติที่สำคัญกับชีวิตมากไปกว่าประเด็นด้านเศรษฐกิจแบบเดิมๆ


ตัวอย่างของประเทศอังกฤษแสดงให้เห็นว่าการสร้างมาตรวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติเป็นการเปิดยุคใหม่ของการปรึกษาหารือของประชาชนและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของชีวิตให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่สามารถนำมาซึ่งการวางแผนพัฒนา กำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนในชาติมีความกินดีอยู่ดีมีสุขได้นอกเหนือไปจาก GDP ที่มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน


อนาคตของ GDP อาจหมายถึงการใช้ GDP อย่างไม่ยึดติด แล้วเสริมด้วยตัวชี้วัดด้านอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ตัวชี้วัดที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เพื่อสร้างประเทศที่น่าอยู่และประชาชนมีความสุขได้อย่างแท้จริง

1,084 views0 comments
bottom of page