top of page
Search

สร้างฉากทัศน์อนาคตเพื่อเปลี่ยนโลก

หนังสือ Transformative Scenario Planning: Working Together to Change the Future เขียนโดย Adam Kahane ผู้เขียนมีบทบาทสำคัญจากการใช้วิธีการสร้างฉากทัศน์อนาคต (Scenario Method) เพื่อแก้ไขหรือเผชิญความท้าทายต่างๆ ของสังคม ผู้เขียนเคยเขียนหนังสือที่น่าสนใจขึ้นมา 2 เล่ม โดยเล่าประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของโลก หนังสือเล่มแรกคือ Solving Tough Problems: An Open Way of Talking, Listening, and Creative New Realities เล่าประสบการณ์การจัดกระบวนการสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตในประเทศต่างๆ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว หนังสือเล่มต่อมา Power and Love: A Theory and Practice of Social Change ได้สรุปบทเรียนของชีวิตและสร้างกรอบการทำงานใหม่ว่าสิ่งที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงมาจากพลัง 2 พลังที่สำคัญคืออำนาจและความรัก




หนังสือ Transformative Scenario Planning: Working Together to Change the Future นี้เป็นหนังสือที่สรุปแนวทางและวิธีการการใช้วิธีการวางแผนอนาคตโดยการสร้างฉากทัศน์อนาคต จึงวางตัวเป็นคู่มือสำหรับให้ผู้ที่สนใจนำไปปฏิบัติเอง หนังสือได้ถ่ายทอดบทเรียนและประสบการณ์ที่เป็นระบบขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป


ในบทนำ ผู้เขียนได้กล่าววัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานร่วมกับคนอื่น คนอื่นที่ไม่ใช่เพียงเพื่อนและผู้ร่วมงาน แต่คือคนแปลกหน้าและฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ทำให้สถานการณ์หยุดชะงัก ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน


คำหนึ่งที่ใช้มากในหนังสือคือ “Transform” หรือการเปลี่ยนผ่าน การข้ามผ่าน ซึ่งเป็นจุดเน้นพร้อมๆ กับคำว่า “สร้างอนาคต” หรือ “สร้างการเปลี่ยนแปลง” ไม่ใช่เพียงการปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น


พลิกประเทศผ่าน Scenario Planning


ผู้เขียนได้กลับไปเล่าถึงสถานการณ์สำคัญของประเทศแอฟริกาใต้ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ. 1990 ซึ่งประธานาธิบดี F.W. de Klerk ได้ประกาศปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) หลังจากถูกจำคุกมานานถึง 27 ปี ภายหลังจากนั้นประเทศแอฟริกาใต้ได้เข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ของประเทศครั้งใหญ่ เพื่อก้าวผ่านนโยบายการแบ่งแย่งสีผิวที่มีมาอย่างยาวนาน ในขณะนั้น ชาวแอฟริกาใต้ล้วนตื่นเต้น กังวลและสับสน เพราะพวกเขาต่างรู้กันว่าสิ่งต่างๆ กำลังจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าอนาคตของเขาและประเทศของเขาจะเป็นอย่างไร


ในเวลานั้น ศาสตราจารย์ Pieter le Roux และ Vincent Maphai เกิดความคิดขึ้นมาว่าน่าจะนำกลุ่มที่จะขึ้นเป็นผู้นำของประเทศหลากหลายกลุ่มมาพูดคุยกันถึงทางเลือกและรูปแบบของการเปลี่ยนผ่านของประเทศครั้งสำคัญนี้ พวกเขาเคยได้ยินถึงวิธีการวางแผนสร้างภาพฉากทัศน์อนาคต (Scenario planning methodology) ที่ริเริ่มโดยบริษัทเชลล์ วิธีนี้เคยทำให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้จากภาวะวิกฤตการณ์น้ำมันโลกมาได้ วิธีนี้ก็อาจสามารถนำมาใช้ในการพูดคุยเพื่อแก้วิกฤตของประเทศแอฟริกาใต้ครั้งนี้ได้เช่นกัน


ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กำลังทางานอยู่ฝ่ายการจัดทำแผนภาพอนาคตของบริษัทเชลล์ ที่กรุงลอนดอน ศาสตราจารย์ Le Roux ได้เชิญผู้เขียนให้มาเป็นผู้นำการจัดประชุม และนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งสำคัญของผู้เขียน ซึ่งในที่สุดก็ได้กลั่นกรองประสบการณ์ทั้งหมดออกมาเป็นหนังสือก่อนหน้านี้ 2 เล่ม


ภายหลังกิจกรรมกระบวนการจัดทำภาพอนาคตดังกล่าวที่ประเทศแอฟริกาใต้ ก็เกิดภาพฉายอนาคตที่มีชื่อเสียงมากของโลกขึ้นมาซึ่งเรียกกันว่า “Mont Fleur Scenario” ตามชื่อสถานที่จัดงาน และเป็นภาพอนาคตที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในแอฟริกาใต้ สุดท้ายผู้คนในประเทศก็เห็นภาพอนาคตของประเทศที่ชัดเจนและร่วมมือกันเลือกภาพอนาคตหนึ่งในนั้น คือ ภาพฉากทัศน์การโบยบินของเหล่านกฟามิงโก (Flight of the Flamingoes) ไปสู่ฟากฟ้าร่วมกัน แทนที่จะเป็นภาพอนาคตของนกกระจอกเทศที่มุดหัวกับทราย (Ostrich) หรือเป็ดง่อย (Lame Duck) ที่ทำอะไรไม่ได้ หรืออิคารัส (Icarus) แม้จะโบยบินขึ้นฟ้าแต่ก็ที่ถูกแสงอาทิตย์แผดเผาจนปีกขี้ผึ้งละลาย


ผู้เขียนเน้นถึงหัวใจของวิธีการสร้างภาพฉากทัศน์อนาคต คือการไม่ได้ต้องการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น (they predict will happen) หรือสิ่งที่คนเชื่อว่าอาจเกิดขึ้น (they believe should happen) แต่ต้องการเพียงสิ่งที่คนคิดว่าอาจสามารถเกิดขึ้นได้ (they think could happen) โดยการสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตควรใช้เมื่อผู้คนเห็นว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถยอมรับได้ (unacceptable) ไม่มีเสถียรภาพ (unstable) หรือ ไม่ยั่งยืน (unsustainable) หรือผู้คนเห็นว่าตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง หรือเพียงการร่วมทำงานกับเพื่อนๆ ได้


เปลี่ยนตนเอง ก่อนที่จะเปลี่ยนโลก


ผู้เขียนชี้ว่าผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการนี้สามารถเปลี่ยนผ่านตนเองใน 4 ทางหลัก คือ


1. เปลี่ยนผ่านความเข้าใจของตนเอง (understanding) ผ่านการสังเคราะห์เรื่องราวภาพรวมของเหตุการณ์จากหลายมุมมองที่กำลังเกิดขึ้น และสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตทั้งหมด เราจะเห็นเหตุการณ์ บทบาทของตนเองและของกลุ่มอื่นๆ ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป และเห็นถึงจุดร่วมพื้นฐานของความคิดที่แตกต่างกันได้


2. เปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relationships) ผ่านการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างภาพฉากทัศน์อนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความเห็นอกเห็นใจและความเชื่อใจต่อกันของกลุ่มต่างๆ รวมถึงเห็นความสามารถและความตั้งใจของคนกลุ่มต่างๆ


3. การเปลี่ยนผ่านความตั้งใจของตน (intentions) เมื่อเห็นเรื่องราวทั้งหมดและเชื่อในความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นจากกระบวนการแล้ว จะเริ่มมองเห็นถึงสิ่งที่สามารถทำได้และจะต้องทำ เพื่อทำให้สิ่งที่ต้องการร่วมกันเกิดขึ้นได้ในอนาคต


4. การเปลี่ยนผ่านการกระทำ (actions) ซึ่งจะเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์

หนังสือได้กล่าวถึง 5 ขั้นตอนหลักๆ ในกระบวนการสร้างภาพฉากทัศน์ในอนาคต คือ เริ่มจากขั้นแรก การสร้างทีมที่หลากหลายอันเป็นตัวแทนของระบบทั้งหมด ขั้นตอนที่สอง สังเกตสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ขั้นตอนที่สาม สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ขั้นตอนที่สี่ สำรวจค้นหาสิ่งที่เราสามารถทำได้และสิ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จ และขั้นสุดท้าย การดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบ (Act to Transform the System)


หนังสือให้น้ำหนักกับการอธิบายวิธีการและประสบการณ์ของ 5 ขั้นตอนดังกล่าวอย่างละเอียด ผู้ที่อ่านจะได้แรงบันดาลใจ และเห็นกระบวนการในการสร้างทางออก ไม่ว่าจะเป็นสำหรับในองค์กร บริษัท โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ เมือง หรือแม้แต่ในระดับประเทศชาติ


กระบวนการสร้างฉากทัศน์อนาคต (Scenario Method) เป็นกระบวนการที่สนุกและน่าสนใจ ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดจะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนตนเอง เข้าใจผู้อื่น และร่วมกันสร้างอนาคต และเมื่อนั้นเราจะเปลี่ยนโลกร่วมกันได้

2,049 views0 comments
bottom of page